“ไก่ไร้เก๊าท์” ผลงานวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ มข. ปรับปรุงพันธุ์ลูกผสมไก่พื้นเมืองได้พันธุ์ใหม่ “KKU1” หรือ “ไข่มุกอิสาน 2” ยูริคต่ำ ไขมันน้อย เนื้อเหนียวแน่นนุ่ม เลี้ยงง่าย ด้านบริษัทประชารัฐเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง หวังสร้างตลาดส่งออก
รศ.บัญญัติ เหล่าไพบูลย์ รอง ผอ.ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ถึงงานวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ไก่พื้นเมือง หลังมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาไก่สายพันธุ์พื้นเมืองเลือด 100% ก่อนหน้านี้คือ ไก่ประดู่หางดำ มข55 และ ไก่ชี KKU12 เป็นไก่สายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นจากไก่พื้นเมืองคือ ไก่ชี ซึ่งมีขนสีขาวผสมกับไก่ทางการค้าได้ลูกออกมาพร้อมคัดเลือกให้เป็นสายพันธุ์แท้ได้อีก 4 สายพันธุ์ เรียกว่า “ไก่ไทย KKU50” ประกอบด้วย “แก่นทอง KKU50” “สร้อยนิล KKU50” “สร้อยเพชร KKU50” และ “ไข่มุกอีสาน KKU50”
ทางศูนย์เครือข่ายวิจัยฯ ได้นำมาปรับปรุงพันธุ์ใหม่ ด้วยการนำไก่ทั้ง 4 สายพันธุ์ไปผสมกับไก่พันธุ์พื้นเมืองได้ลูกผสมออกมาเป็น “ไก่ KKU1” หรือ ไข่มุกอิสาน 2 ซึ่งมีคุณสมบัติที่น่าสนใจ นั่นคือ เนื้อหนา แน่น นุ่มอร่อย ไฟเบอร์กล้ามเนื้อมีขนาดเล็ก โคเลสเตอรอลต่ำ มีกรดยูริคต่ำเพียง 1.91 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าไก่เนื้อทางการค้า เหมาะสำหรับทำไก่ย่างหรือไก่ทอด นอกจากนี้ยังโตเร็ว เลี้ยงง่าย เกษตรกรสามารถเลี้ยงในโรงเรือนตามบ้าน ไม่ต้องลงทุนสูง
“ไก่ของเราถือเป็นอาหารสุขภาพแม้แต่ผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์ก็สามารถรับประทานได้ แต่อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่าตั้งหน้าตั้งตารับประทานทีละมากๆ หรือทานบ่อยๆ อันนี้ก็ไม่ได้ ไก่ของเราเหมาะที่จะทำเป็นไทยบอยเลอร์หรือไก่เนื้อ มีเลือดผสมไก่พื้นเมืองอยู่ด้วย จะให้รสชาติที่อร่อยกว่าไก่เนื้อทั่วไป แต่ตอนนี้ราคาขายไก่ของเราตกกิโลกรัมละ 65 บาท เพราะคนเลี้ยงยังน้อย ยังผลิตได้ไม่มาก ราคาจึงสูงกว่า ส่วนมากเกษตรจะเลี้ยงส่งตามภัตตาคารเพราะถือเป็นอาหารพรีเมี่ยม
ไก่พันธุ์พื้นเมืองอิสานตอนนี้ถือว่าอนาคตกำลังดัง รสชาดอร่อย ถูกปาก ไขมันต่ำ โปรตีนสูง กรดยูริคต่ำ นอกจากจะเป็นอาหารสุขภาพที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุแล้ว ไข่ไก่พื้นเมืองยังเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งที่กำลังให้คีโม ซึ่งต้องการโปรตีนสูงเพื่อสร้างเม็ดเลือดขาว แต่ปัญหาคือการผลิตยังทำได้ไม่เพียงพอ
ตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังมองหาผู้ประกอบการที่จะมาเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เพราะความสามารถของเราสามารถผลิตได้ 20,000 ฟองต่อเดือน ขณะที่ตลาดมีความต้องการถึงเดือนละ 1 แสนฟอง โดยเฉพาะเกษตรกรตามแนวชายแดน หากเลี้ยงก็สามารถส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้านของเราซึ่งเขาบริโภคเฉพาะไก่พื้นเมือง ราคาส่งขายสูงถึงกิโลกรัมละ 110 บาท ต้องบอกว่า ตลาดของไก่ของพื้นเมืองยังมีอนาคตที่ไกลมากทั้งในและต่างประเทศ” รศ.บัญญัติ กล่าว
ด้านนายไผท คำอู เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ TK Farm อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นเกษตรกรที่เคยเลี้ยงไก่พันธุ์เนื้อทั่วไป ภายหลังได้หันมาเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองอย่างเดียว กล่าวว่า ปัจจุบันเลี้ยงไก่ลูกผสมพื้นเมือง ในฟาร์มมีอยู่ประมาณ 5,000 ตัว ข้อดีคือ เลี้ยงง่าย โตไว สามารถเลี้ยงในฟาร์มเปิดทั่วไปได้ ประหยัดต้นทุนทั้งค่าอาหารและค่าไฟฟ้ามากกว่าการเลี้ยงไก่ทั่วไป พบว่า ตั้งแต่เลี้ยงมาก็สร้างรายได้ที่ดี มีเกษตรกรสนใจอยากเลี้ยงอีกมาก แต่ขณะนี้ยังผลิตลูกไก่ไม่ได้มากเท่าที่ควร
ขณะที่นายสุเมธ มั่งคั่ง กรรมการผู้จัดการ และนักพัฒนาธุรกิจชุมชน บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีขอนแก่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า ไก่ชนิดนี้เป็นงานวิจัยที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมา ยังไม่เคยทำตลาดมาก่อน เราเลยทดลองนำไปเลี้ยงในฟาร์มนำร่องที่บ้านฝาง แล้วก็เริ่มทำตลาด เช่น การทำ ไก่ย่างยี่ห้อประชารัฐ ส่งไปที่ร้านอาหารญี่ปุ่น ปรากฏว่าเขาชอบมาก เพราะเป็นเนื้อที่มีความแตกต่าง โดยเฉพาะ texture ที่ละเอียดกว่าไก่ทั่วไป
ในกลุ่มตลาดไก่ย่างก็พบว่า ไก่ของเราให้เนื้อที่มากกว่าในน้ำหนักเนื้อที่เท่ากัน เมื่อย่างแล้วเนื้อไม่แห้งเหมือนไก่ทั่วไป ในกลุ่มร้านสเต็กก็ชอบมากและมียอดสั่งจองเข้ามาแล้ว สำหรับไก่ KKU1 ตอนนี้ถือว่า มีศักยภาพมากสำหรับตลาดอาหารสำหรับผู้รักสุขภาพ ตลาดผู้สูงอายุ หรือ ตลาดอาหารระดับพรีเมี่ยม ตอนนี้ก็มีคนมาเสนออยากทำตลาดให้เรา แต่ติดปัญหาที่เราไม่สามารถผลิตไก่ได้มากพอ ยังมีปัญหาเรื่องโรงเชือด คนหมักไก่ กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ในพื้นที่เรายังขาดอยู่มาก
ผู้สนใจสามารถหาซื้อเนื้อไก่พื้นเมืองได้ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป หรือที่ร้าน Agro outlet@KKU คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: