ขอนแก่น – เปิดงานวิจัยรถยนต์ต้นแบบวิ่งบนรางรถไฟหรือถนน สะดวกต่อการเข้าถึงรางที่อยู่ห่างไกล สามารถติดตั้งกับรถยนต์ทั่วไป ด้วยราคาที่ถูกกว่ารถนำเข้า เอื้อประโยชน์ต่อการเดินทางด้วยระบบรางทุกรูปแบบ
“โครงการพัฒนารถยนต์ขนาดเบาวิ่งบนรางรถไฟมิเตอร์เกจหรือถนน” งานนี้เป็นผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.วิโรฏฐ์ สุคนธนการนต์ หัวหน้าสาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจาก สวทช. ก่อนออกมาเป็นรถยนต์ต้นแบบดังกล่าว
ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยใช้รถตรวจสภาพรางขนาดเล็กประจำอยู่สถานีต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้งาน ไม่สามารถวิ่งเข้าไปตรวจรางในพื้นที่ห่างไกล ที่การคมนาคมลำบาก หรือกรณีมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนราง ก็ไม่สามารถวิ่งเข้าไปรับผู้บาดเจ็บออกมาส่งโรงพยาบาลได้
ข่าวน่าสนใจ:
- ขอนแก่นจัดงานแถลงข่าว เทศกาลสุดออนซอนแห่งปี! “PlaraMorlum” Isan to the World ระหว่างวันที่ 26-29 ธันวาคม 2567 ณ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์
- นายอำเภอกระนวน จ.ขอนแก่น นำทีมฝ่ายปกครองบุกจับแก็งยาบ้า ขยายผลยึดยาบ้า 600 เม็ด
- ขอนแก่น เอาจริงลุยปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด ในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น ได้ผู้ต้องหา 4 ราย หลังชาวบ้านแจ้งเบาะแส
ผศ.ดร.วิโรฏฐ์ กล่าวว่า “ตอนแรกคิดถึงว่า เราจะทำงานวิจัยเกี่ยวกับอะไรในเรื่องระบบราง ก็คิดไปถึงว่า กรณีหากเกิดอุบัติเหตุมีผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บบนรถไฟจะเข้าไปรับยังไงเพราะปัจจุบันนี้เส้นทางรถไฟของบ้านเราก็ยาวขึ้น ผ่านเข้าไปในป่าเขานับพันกิโลเมตร เมื่อหาข้อมูลดูก็พบว่าในต่างประเทศมีรถประเภทนี้แต่เขาใช้ในด้านการซ่อมบำรุงก็มาคิดว่าจะดัดแปลงใส่รถปิกอัพของบ้านเราได้ยังไง”
โดยสรุปการทำงานของรถต้นแบบคันนี้ก็คือในโหมดรถยนต์ก็ใช้ระบบปกติ แต่เมื่อวิ่งเข้าไปที่ราง จะมีอุปกรณ์พิเศษทำขึ้นจากแผ่นเหล็กเป็นแผ่นครอบรางเพื่อให้รถปีนขึ้นไปคร่อมบนราง คนขับสามารถกะระยะจากกล้องบนรถเพื่อให้ล้อรถวางคร่อมลงบนรางได้พอดี จากนั้นสามารถสั่งที่แป้นควบคุมในรถหรือแอพพลิเคชั่นที่เขียนขึ้นใหม่ เมื่อกดคำสั่งแอพในมือถือ ระบบไฮดรอลิคจะยกล้อรถขึ้นเพื่อให้ล้อเหล็กวางลงไปบนรางได้ จากนั้นก็สามารถขับรถไปตามปกติ ล้อยางจะหมุนส่งกำลังไปที่ตัวเปลี่ยนทิศทางก่อนจะส่งแรงต่อไปที่ลูกกลิ้งเหล็กเป็นต่อที่ 3 ให้เคลื่อนไปบนรางอีกต่อหนึ่ง เมื่อล้อยางหมุนไปข้างหน้า ลูกกลิ้งเหล็กก็จะหมุนไปด้วย โดยที่รถจะขับเคลื่อนด้วยระบบน้ำมันเช่นปกติ
ข้อดีอีกประการหนึ่งคือ ระบบไฮดรอลิกและล้อเหล็ก สามารถถอดไปประกอบในรถปิกอัพได้สะดวก สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับรถที่การรถไฟฯ ใช้งานอยู่ได้ทันที โดยที่ชุดระบบไฮดรอลิกและล้อเหล็กมีราคารวมไม่เกิน 5 แสนบาท (ไม่รวมราคารถยนต์) ซึ่งปกติการรถไฟฯ จะต้องใช้รถที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงตั้งแต่ 6 ล้านบาท หรือหากเป็นรถตรวจสภาพรางก็จะมีราคาสูงถึง 300 ล้านบาท ในอนาคตผู้วิจัยคาดว่า หากมีการผลิตจำนวนมากๆ ราคาก็จะลดลงได้อีก
สำหรับแผนงานต่อไปผู้วิจัยมีแนวคิดจะปรับปรุงงานให้รถสามารถวิ่งได้เร็วขึ้น ปรับปรุงระบบไฮดรอลิกให้สามารถใช้กับรถขนาดใหญ่ เช่น รถสิบล้อ เพื่อสามารถขนอุปกรณ์เครื่องมือในการซ่อมแซมรางได้ดียิ่งขึ้น
ในอนาคตที่ประเทศกำลังเดินหน้าเรื่องระบบราง รถต้นแบบคันนี้จึงสามารถนำไปใช้ได้กับรางทุกประเภท “แม้แต่กับรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือ แอร์พอร์ตเรลลิงค์ ที่ใช้ระบบรางก็สามารถใช้รถต้นแบบคันนี้ในการวิ่งไปบนรางได้เช่นกัน” ผศ.ดร. วิโรฏฐ์ กล่าว
นอกจากนั้น ในวันนี้คณะผู้วิจัยได้ร่วมส่งมอบรถยนต์ต้นแบบแก่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อส่งมอบต่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทยนำไปใช้งานจริงในภารกิจซ่อมบำรุงทาง ในงานประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 หรือ RISE 4 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2561 ณ ลานชั้น 2 สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มักกะสัน กรุงเทพฯ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: