ขอนแก่น – มหาวิทยาลัยขอนแก่นเตรียมสร้างศูนย์การแพทย์ชั้นเลิศ เป็นโรงพยาบาลขนาด 5,000 เตียง ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและอาเซียน ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 24,500 ล้านบาท เปิดรับผู้บริจาคพร้อมดูแลค่ารักษาพยาบาลฟรีตลอดชีพ
การแถลงข่าว “โครงการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ชั้นเลิศ” โดย รศ.ดร. กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธาน ที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์พร้อมด้วยคณบดีกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ 6 คณะ ประกอบด้วย คณะทันตแพทย์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ และ บัณฑิตวิทยาลัย ร่วมการแถลงข่าวเมื่อ วันที่ 14 มีนาคม 2561 ณ โรงแรม Intercontinental Bangkok กรุงเทพมหานคร
โครงการนี้จะก่อสร้าง โรงพยาบาลขนาด 5,000 เตียง พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์และ เครื่องมืออันทันสมัย ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 24,500 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ดังนี้
ระยะที่ 1 จำนวน 3,500 เตียง ใช้ระยะเวลา 2.5 -3 ปี เงินลงทุน 14,000 ล้านบาท
ข่าวน่าสนใจ:
- ผอ.ชลประทานที่ 17 นำ 'พ่อเมืองนราฯ' ตรวจความพร้อมรับมืออุทกภัย
- นครพนม : นักวิ่งกว่า 3,000 คน ร่วมการแข่งขัน ‘นครพนม-คำม่วน มาราธอน ซีซั่น 6’ เชื่อมสัมพันธ์สองฝั่งโขง ชมสวยที่สุดที่นครพนม
- ททท.แถลงข่าวกิจกรรม Event Marketing ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา “แข่งขันวิ่งเทรลไตรบูรพาซีรีย์ 4 สนาม 3 จังหวัดภาคตะวันออก
- 35 ปีแก่งเสือเต้น นักวิชาการยกย่องต้านเขื่อนขนาดใหญ่ด้วยสิทธิชุมชน
ระยะที่ 2 ครบ 5,000 เตียง ดำเนินการต่อเนื่องทันที เงินลงทุน 10,500 ล้านบาท
ทั้งนี้การระดมทุนในระยะที่ 1 เงินลงทุน 14,000 ล้านบาทจะเกิดขึ้นจากการเปิดรับบริจาคจากประชาชน โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะตอบแทนผู้มีจิตกุศล ดังนี้
- ผู้บริจาคจะได้รับการรักษาฟรีตลอดชีวิต จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ผู้บริจาคจะได้รับสิทธิ์ตามกฏหมายในการลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
- การบริจาคนี้จะแบ่งเป็น 3 งวด เพื่อหักภาษี โดยสิทธิ์พิเศษจะได้รับตั้งแต่ปีแรกที่บริจาค
ทั้งนี้ท่านผู้บริจาคจะถือเป็นสมาชิกพิเศษที่เรียกว่า กองทุนอายุวัฒนะ โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ วงเงิน 4 ล้านบาท จำนวน 500 ท่าน และ วงเงิน 5 ล้านบาท จำนวน 2,000 ท่าน
สำหรับการก่อสร้างโรงพยาบาลที่จะเกิดขึ้นนี้จะเป็นส่วนขยายของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ พื้นที่ก่อสร้างอยู่บริเวณอาคารเดิมของสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 4 ขอนแก่น ประกอบด้วยอาคารรักษาพยาบาล 2 อาคาร เป็นอาคารขนาด 20 ชั้น และ 39 ชั้น นอกจากนี้ยังมี อาคารจอดรถ เรือนพักญาติ และ อาคารสนับสนุนบริการ อันจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ทุกสถานภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ชาวอีสานตามเจตนารมย์ของโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการดูแล พี่น้องชาวอีสานและประเทศไทยอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
หลังการแถลงข่าวได้สร้างความสนใจแก่ประชาชนจำนวนมาก ทีมข่าว 77ข่าวเด็ด ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถึงรายละเอียดโครงการดังกล่าว
Q : ที่มาของการสร้างโรงพยาบาลขนาด 5,000 เตียง
A : มันเป็นตัวเลขขนาดพอเหมาะที่มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการได้ จำนวนนี้จะไม่รวมเตียงที่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ เพราะปัจจุบันตัวเลขจำนวนเตียงต่อผู้ป่วยในภาคอิสานแย่ที่สุดในประเทศ คือ 1 : 636 ขณะที่กรุงเทพฯ 1:200 เท่านั้น ตอนนี้ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีเตียงให้บริการอยู่ 1,100 เตียง เราประเมินคร่าวๆ ว่า ถ้าเราเพิ่มเป็น 5,000 เตียง เราน่าจะสามารถช่วยดูแลคน อิสานในอัตราส่วนที่ลดลงมาได้ประมาณ 1:400 ไม่ใช่ดีมาก แต่เท่าๆ กับภูมิภาคอื่น
Q : ศูนย์การแพทย์แห่งใหม่เน้นความเชี่ยวชาญในด้านใดบ้าง
A : ในทุกด้าน เช่น การปลูกถ่ายอวัยวะ มะเร็ง ไต หัวใจ แต่จะเน้นโรคของคนอิสานก่อน เช่น ไต เบาหวาน มะเร็งท่อน้ำดี
Q : ค่าบริการจะเพิ่มขึ้นหรือไม่
A : ไม่เลย ใช้อัตราปกติเท่ากับที่ สปสช.กำหนดไว้ อันไหนที่เบิกได้ตามสิทธิ์ เราก็เบิกตามนั้น แต่สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่สามารถจ่ายได้เราก็มีกองทุนวันศรีนครินทร์ดูแลอยู่เหมือนเดิม
Q : ปัญหาเรื่องบุคลากรสำหรับโรงพยาบาลขนาดใหญ่
A : เราคิดแผนรองรับไว้แล้ว สำหรับจำนวนแพทย์และพยาบาลที่จะต้องเพิ่มตามจำนวนเตียงที่เพิ่มขึ้น เราวางแผนกับคณะที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้ง 6 คณะ ไม่รวมสัตวแพทย์ วางแผนว่าจะต้องผลิตคนเพิ่มยังไงบ้าง เช่น การเปิดสาขาพยาบาลที่วิทยาเขตหนองคาย เพื่อให้จำนวนพยาบาลเพียงพอ เพราะจำนวนบุคลากรที่วิกฤติก็คือพยาบาล เราผลิตได้น้อยมากด้วยข้อจำกัดของสภาวิชาชีพ ตอนนี้เราเปิดหลักสูตรเพิ่มปีที่ 1 รับมา 60 คนและจะเพิ่มขึ้นอีก จนถึงช่วงที่เปิดบริการโรงพยาบาลเต็มที่ เราก็จะมีบุคลากรเพียงพอ เราสามารถผลิตเพิ่มได้จากทั้งงบประมาณแผ่นดินและเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ตอนนี้ที่วางแผนไว้คือให้ทุนเรียน พอจบแล้วจะบรรจุให้เลยเพื่อสร้างแรงจูงใจ
Q : อัตราการผลิตบุคลากรและปัญหาสมองไหล
A : ถ้าเป็นแพทย์ เราก็ผลิตพอๆ กับศิริราช อันดับ 1 ของประเทศ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร สิ่งที่เรากังวลคือพยาบาลกับสายวิชาชีพอื่นๆ เรื่องสมองไหลเมื่อก่อนพยาบาลจะมีปัญหามาก แต่ตอนหลังก็มีการบวกค่าวิชาชีพ ค่าอะไรต่างๆ เข้าไปให้ความแตกต่างกับที่อื่นน้อยลง เพราะฉะนั้นเขาก็ยังอยู่กับเรา
Q : ที่มาของงบประมาณก่อสร้าง 24,500 ล้านบาท
A : ส่วนหนึ่งคืองบประมาณแผ่นดิน ส่วนหนึ่งคือเงินรายได้ของเรา และอีกส่วนคือเงินบริจาค เช่น สลากกาชาด
Q : แนวคิดของการเปิดรับบริจาค
A : เป็นเงินที่บริจาคจากคนที่มีศักยภาพมากกว่าเพื่อมาดูแลคนที่มีศักยภาพน้อยกว่า ยืนยันว่า มข.ไม่ได้ดูแลเฉพาะคนที่บริจาค เพราะเตียงที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 3,000 เตียง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1,100 เตียงจะช่วยให้เราสามารถดูแลผู้ป่วยในได้อีกถึง 200,000 คนต่อปี จากที่ปัจจุบันเราต้องปฏิเสธคนไข้จาก รพ.จังหวัด หรือ รพ.ประจำอำเภอไปเยอะมาก เพราะตอนนี้เราสามารถดูแลได้เพียง 40,000-50,000 คนต่อปี เตียงเราไม่พอรับ ถ้าเราไปพึ่งงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขก็คงไม่ทัน เราก็เลยเปิดรับบริจาค โดยคิดว่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับคนไทยที่ มีจิตกุศล ชอบสร้างวัด สร้างอะไร ก็หันมาช่วยคนแบบนี้ดีกว่า
Q : สิทธิประโยชน์ที่ผู้บริจาคจะได้รับ
A : กรณีผู้บริจาค ถ้าเป็นค่าใช้จ่ายที่เกินจากสิทธิตามที่ สปสช.กำหนดให้แล้ว เราจะรับผิดชอบ ให้ทุกอย่าง ทั้งค่าห้องพิเศษ ค่ายานอกบัญชียาหลัก สำหรับผู้ป่วยทั่วไป เขาสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่ง่ายขึ้นและดีขึ้น มีเตียงรองรับคนป่วยมากขึ้น มีเครื่องมือที่ดีขึ้น แต่ขอสองเรื่องคือ ผู้บริจาคต้องไม่เป็นเอดส์และไม่เป็นมะเร็งในวันที่สมัคร และต้องอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป นอกจากนี้เรายังให้โอกาสสำหรับพ่อแม่บางรายที่อาจจะมีอายุมากแล้วและต้องการบริจาค เราจะแนะนำให้เขาซื้อให้ลูกเลย ซึ่งเราก็จะดูแลทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกด้วย
นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่แสดงความจำนงอยากจะขอบริจาคสร้างโรงพยาบาลแต่ไม่ขอบริจาคเป็นเงินก้อนใหญ่ เราก็แนะนำให้เขาบริจาคเข้า “กองทุนวันศรีนครินทร์” ซึ่งท่านสามารถบริจาคเท่าไรก็ได้ และสิทธิประโยชน์ของกองทุนนี้เราก็ดูแลผู้บริจาคด้วยในระดับหนึ่ง เพราะกองทุนนี้เราจะเอาไว้ใช้ในกรณีอย่างเช่นผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน เราก็สามารถนำเงินจากกองทุนนี้มาช่วยในเรื่องของค่ายา ค่ารักษาต่างๆ ยืนยันว่ามาตรฐานการรักษาของทั้งผู้บริจาคและผู้ป่วยทั่วไปจะเหมือนกัน
Q : กระแสตอบรับในตอนนี้
A : มีคนสนใจติดต่อเข้ามาเยอะมากเพราะเขาสามารถลดหย่อนภาษีได้ด้วยตั้งแต่ 20-35% ซึ่งไม่ใช่น้อย ตอนนี้เราตั้งวงเงิน 4 ล้านบาท จำนวน 500 ท่าน และ วงเงิน 5 ล้านบาท จำนวน 2,000 ท่าน แต่ถ้าหากมีคนสนใจมากกว่านี้เราก็จะพิจารณาอีกที ตอนนี้มีหลายคนสอบถามมา บางคนแม้จะไม่อยู่ในภาคอิสาน แต่ก็ยื่นความจำนงค์มา เพราะเวลาเขาไปโรงพยาบาลของรัฐก็พบปัญหาเตียงไม่ว่าง เขาก็ต้องไปโรงพยาบาลเอกชน เขาก็สนใจมารักษาที่เรา แต่เขาก็ต้องโอนสิทธิการรักษาพยาบาลมาที่เรา แล้วเราจะดูแลให้ทุกอย่าง
Q : ประโยชน์นอกเหนือจากการดูแลสุขภาพชาวอิสาน
A : การขยายโรงพยาบาลนี้จะทำให้ขอนแก่นกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ไปทันที ในภาพรวมจะเห็นว่ามีโรงพยาบาลเอกชนเข้ามามาก แล้วจะเห็นว่าเขาก็ขยายตัวเองอยู่เรื่อยๆ ขอนแก่นเลยกลายเป็นเมืองโรงพยาบาล จากทำเลที่ตั้งที่ดีมากเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ต่อไปขอนแก่นจะเป็นศูนย์กลางในทุกๆ เรื่อง เมื่อเรามีเตียงมากขึ้น การรับโอนผู้ป่วยก็จะสะดวกขึ้น เราสามารถดูแลสุขภาพคนที่มาอยู่ มาทำงานที่นี่ได้ดีขึ้น ตรงนี้จะเป็นแม่เหล็กสำคัญดึงดูดให้คนเข้ามาในพื้นที่ได้อีกมาก ไม่ว่าจะมาอยู่อาศัย มาทำงาน ลงทุนทำธุรกิจ หรืออะไรต่างๆ
ผู้สนใจบริจาคกองทุนอายุวัฒนะ สามารถติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 06-222-91-555, 06-222-94-555 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (รับแจ้งความจำนง 15 มีนาคม 2561 เปิดรับบริจาคจริง 15 ตุลาคม 2561)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: