ขอนแก่น – นวัตกรรมเตียงรุ่นใหม่ช่วยพลิกตัวอัตโนมัติ ลดภาระการดูแลผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้สูงอายุ สามารถประยุกต์ใช้กับเตียงทั่วไปด้วยต้นทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท
“ระบบควบคุมเตียงลดแผลกดทับด้วยพีแอลซีโดยอาศัยปัจจัยความชื้นของผิวหนัง” เป็นผลงานของ นายสุทธิรัตน์ ไอยะรา และ นายจารุภัทร ชัยสิม นักศึกษาจากภาควิชาไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตขอนแก่น โดยมี ผศ.ดร.ศักดิ์ระวี ระวีกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ดูแลงานวิจัยชิ้นนี้
ที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นจากเรื่องใกล้ตัวที่พบเห็นญาติพี่น้องหรือคนรู้จักนอนรักษาตัวอยู่ที่บ้าน แล้วไม่มีผู้ดูแล ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตัวเองได้เนื่องจากพิการตั้งแต่ตั้งแต่คอลงมา จนเกิดปัญหาเรื่องแผลกดทับ ได้รับความทุกข์ทรมานมาก เนื่องจากอวัยวะได้รับแรงกดเป็นเวลานาน เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าวไม่เพียงพอ นานเข้า เนื้อเยื่อของอวัยวะดังกล่าวจะถูกทำลายและเริ่มตาย บางคนที่ปล่อยทิ้งไว้ ทำให้แผลลุกลามมากขึ้นและมีอาการติดเชื้อตามมา
ข่าวน่าสนใจ:
- ขอนแก่น เอาจริงลุยปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด ในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น ได้ผู้ต้องหา 4 ราย หลังชาวบ้านแจ้งเบาะแส
- ขอนแก่นจัดงานแถลงข่าว เทศกาลสุดออนซอนแห่งปี! “PlaraMorlum” Isan to the World ระหว่างวันที่ 26-29 ธันวาคม 2567 ณ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์
- นายอำเภอกระนวน จ.ขอนแก่น นำทีมฝ่ายปกครองบุกจับแก็งยาบ้า ขยายผลยึดยาบ้า 600 เม็ด
การดูแลแผลกดทับ นอกจากจะต้องทำแผลให้สะอาด รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง วิตามินซีสูงเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วแล้ว ที่สำคัญผู้ดูแลต้องหมั่นพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อช่วยลดการเกิดแผลกดทับที่กว้างขึ้นและยังช่วยให้แผลตื้นและหายได้เร็วขึ้นด้วย แต่การพลิกตัวผู้ป่วยเป็นระยะเป็นภาระหนักสำหรับผู้ดูแล โดยเฉพาะในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลจำนวนมาก หรือผู้ป่วยที่ต้องอยู่ลำพังและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กลายเป็นที่มาของการคิดค้นนวัตกรรมเตียงเพื่อช่วยลดปัญหาแผลกดทับ
“กลายเป็นโจทย์ที่เขามานั่งคิดว่า มีวิธีไหนที่จะใช้ความรู้ที่เรียนมา ช่วยญาติหรือคนที่ป่วยให้พ้นจากความทุกข์ทรมานได้ไม่มากก็น้อย ทางเราจึงได้นำสิ่งนี้เข้ามาสู่ห้องเรียน ทั้งอาจารย์และเพื่อนๆ ช่วยกันต่อยอดขึ้นมา จนได้นวัตกรรมเตียงที่สามารถพลิกตัวผู้ป่วยให้ได้รับการผ่อนคลาย ผิวหนังด้านล่างไม่ถูกกดทับ” ผศ.ดร.ศักดิ์ระวี กล่าว
วิธีการทำงานคือ แบ่งแผ่นรองเตียงเป็นสองส่วนตามยาว แต่ละส่วนติดตั้งมอเตอร์ควบคุมที่ด้านล่าง มีแผงบังคับติดตั้งอยู่ข้างเตียง เพื่อตั้งเวลาในการพลิกตัวผู้ป่วย เมื่อถึงเวลาที่กำหนด แผ่นรองด้านหนึ่งจะยกสูงขึ้น 30 องศา และค้างไว้ตามเวลาที่กำหนด ก่อนจะดันลง และเมื่อถึงเวลา แผ่นรองอีกข้างก็จะยกสูงขึ้น สลับกันไปมา
“เตียงนี้ยาว 2 เมตร รองรับน้ำหนักได้สูงสุด 70 กิโลกรัม สำหรับผู้ป่วยทั่วไปก็สามารถใช้เตียงนี้ได้ไม่มีปัญหา ตั้งความเอียงไว้สูงสุด 30 องศา แต่ในโหมดที่ปรับด้วยมือสามารถยกสูงที่ 10 หรือ 20 องศาก็ได้ ส่วนโหมดอัตโนมัติเครื่องจะปรับให้เตียงยกขึ้นสูงสุดไปที่ 30 องศา” นายสุทธิรัตน์ กล่าว
ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมต้องตั้งความเอียง ที่ 30 องศา นายจารุพัชร์ อธิบายว่า “ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาผู้ป่วยจะได้รับอันตราย ความเอียงตั้งแต่ 15 ถึง 30 องศาขึ้นไปนั้น ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดการกดทับมากขึ้น ผิวหนังได้รับแรงกดที่มาก หากเอียงมากกว่านั้นอาจทำให้เกิดแผลได้ง่ายขึ้น แต่มุมที่กำหนดไว้นี้จะไม่สูงและไม่ต่ำเกินไป เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย”
หลังทำวิจัยเสร็จได้ทดลองนำไปใช้งานในโรงพยาบาลชุมชน โดยการทำงานร่วมกันกับแพทย์ ผู้ดูแลผู้ป่วย อสม. และนักกายภาพบำบัด พบว่า ผู้ป่วยที่ใช้เตียงแบบใหม่นี้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เพราะไม่ต้องนอนท่าเดียวเป็นเวลานานๆ นอกจากนี้สุขภาพผิวหนังส่วนที่ถูกกดทับก็ดีขึ้นด้วยเช่นกัน “เตียงนี้สามารถช่วยได้ทั้งผู้ป่วย หรือญาติ หรือพยาบาล สามารถไปทำอย่างอื่นโดยที่ไม่ต้องเสียเวลาคอยพลิกตัว เพราะเท่าที่สอบถามมาในการพลิกตัวแต่ละครั้งจะต้องมีพยาบาลหรือญาติตั้งแต่สองคนขึ้นไป ดูแลช่วงหัวและท้าย มีหมอนข้างให้กอด มีหมอนสอดที่ขา แล้วต้องพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง ในแต่ละวันก็จะเสียเวลาทำงานของทั้งญาติและพยาบาลมาก นอกจากนี้ตัวผู้ป่วยเองก็สามารถดูแลตัวเองได้ หากรู้สึกเมื่อยก็สามารถปรับเตียงเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถได้” นายจารุพัชร์ กล่าว
ที่สำคัญคือ วิธีการประดิษฐ์ไม่ยุ่งยาก อุปกรณ์ทุกอย่างสามารถหาได้ในท้องตลาด เพื่อให้ราคาไม่แพง ลดปัญหาการซ่อมที่ล่าช้า สำหรับเตียงแบบพื้นฐานคือพลิกซ้ายขวาสำหรับผู้ป่วยที่เริ่มทดลองใช้เตียงหรือเพิ่งออกจากโรงพยาบาล ราคาวัสดุทั้งหมดไม่เกิน 10,000 บาท ญาติผู้ป่วยหรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสามารถนำไปดัดแปลงใช้กับเตียงที่มีอยู่ได้ โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000-12,000 บาท นอกจากนี้ผู้วิจัยกำลังต่อยอดงานชิ้นนี้ ด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจความชื้นที่ผิวหนัง เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยในอีกขั้นหนึ่ง เซ็นเซอร์นี้จะวัดความชื้นสะสมจากร่างกายผู้ป่วยและส่งสัญญาณให้มอเตอร์ทำงานพลิกแผ่นเตียง เพื่อช่วยลดอุณหภูมิความชื้นจากร่างกายผู้ป่วยที่เกิดจากการนอนกดทับ
ที่สำคัญในอนาคตกำลังจะมีเตียง เวอร์ชั่น 2 ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น “หลังจากได้เตียงขั้นพื้นฐานแล้ว ก็มีโจทย์ตามมาว่า ผู้ป่วยอาจจะอยากลุกนั่ง อยากจะกายบริหารที่ขา นักศึกษาเขาก็คิดว่า เราน่าจะแบ่งเตียงได้มากกว่านี้ จากเดิมที่แบ่งตามแนวยาว เราก็มาแบ่งออกเป็น 8 ส่วน สาเหตุที่ต้องเป็นเช่นนั้นเพราะว่าเวลาพลิกตัวทางซ้ายก็ต้องไปทีละ 4 ส่วน พลิกตัวทางขวาก็ต้องไป 4 ส่วน แต่เวลาเราลุกนั่งจะใช้แค่ด้านหลัง 2 ส่วน จากช่วงแรกที่ต้องใช้มอเตอร์ถึง 10 ตัว ในที่สุดก็สามารถลดลงจนเหลือเพียง 3 ตัว การใช้พลังงานก็ลดลง
ตอนนี้เด็กของเราสามารถเขียนแอพเพื่อสั่งการเตียงได้ นำข้อมูลนี้ขึ้นระบบ cloud ให้หมอและพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยคนนี้อยู่สามารถสั่งยาหรือเช็คได้ตลอดเวลาว่า ผู้ป่วยมีพัฒนาการเปลี่ยนไปอย่างไร แพทย์ไม่ต้องเสียเวลาไปพบผู้ป่วย จะเห็นว่าการศึกษาของเราไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเราให้นักศึกษาเป็นเจ้าของวิชานั้นเอง ให้เขาลงมือกระทำกับวิชานั้นเอง ที่สุดเขาจะได้สิ่งนั้นติดตัวไปตลอดชีวิต จากเตียงขั้นพื้นฐานในวันนี้ก็จะต่อยอดไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะไปจนถึงที่เรียกว่า เตียงหุ่นยนต์ ที่สามารถคุยกันระหว่าง Machine ได้ เช่นเตียงสามารถคุยกับมือถือได้ มือถือสามารถสั่งการเตียงได้ในช่วงที่ระหว่างรอผู้ดูแลเข้ามาเช็คข้อมูล นั่นคือจะนำไปสู่เรื่องของไทยแลนด์ 4.0 Internet of Thing” ผศ.ดร.ศักดิ์ระวี กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: