วันแรกของการแจกน้ำมันกัญชาที่โรงพยาบาลขอนแก่น มีคนไข้ที่ผ่านการคัดกรองเข้าพบแพทย์ รวม 4 ราย เพื่อขอคำปรึกษาก่อนการตัดสินใจ
ช่วงบ่ายวันนี้ที่คลินิกกัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ โรงพยาบาลขอนแก่น ได้เปิดรับปรึกษา และเริ่มแจกจ่ายน้ำมันกัญชาแก่ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โดยวันนี้มีผู้ป่วยเข้ารับคำปรึกษาและขอรับน้ำมันกัญชาเพื่อใช้รักษาโรค จำนวน 4 ราย
โดยผู้ป่วยได้เข้าพบ นพ.วัชรพงษ์ รินทระ นายแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลขอนแก่น และ นพ.สมศักดิ์ ประฏิภานวัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งแพทย์ได้แนะนำการใช้น้ำมันกัญชาและข้อบ่งใช้ให้กับผู้ป่วยทุกราย เพื่อการตัดสินใจในการใช้น้ำมันกัญชาเพื่อการแพทย์ โดยโรงพยาบาลขอนแก่นได้รับน้ำมันกัญชามาในล็อตแรกทั้งหมด 350 ขวด และจะกระจายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ รวม 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลมหาสารคาม โรงพยาบาลร้อยเอ็ด และ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ โดยการจ่ายให้ผู้ป่วยจะต้องมีการตัดสินใจร่วมกันทั้งผู้ป่วยและแพทย์
ข่าวน่าสนใจ:
นพ.วัชรพงษ์ รินทระ นายแพทย์ชำนาญการ กล่าวว่า ทางแพทย์จะมีการให้ข้อมูลผู้ป่วยถึงการใช้น้ำมันกัญชาว่าจะสามารถใช้ได้ในกรณีใดบ้าง ซึ่งถ้าหากเป็นคนไข้ในระยะสุดท้ายจะใช้ในกรณีที่มีอาการปวดแบบจัดการไม่ได้ ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับมอร์ฟีนจะดีกว่ากัญชาค่อนข้างมากในเรื่องของการแก้ปวด ผลข้างเคียงจากการใช้น้ำมันกัญชาอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ซึ่งทางแพทย์จะบอกทั้งข้อดีและข้อเสียให้กับผู้ป่วยทราบ รวมถึงข้อบ่งชี้ในการใช้ ซึ่งคนไข้ก็มีสิทธิเลือกที่จะรับหรือไม่รับน้ำมันกัญชาได้
โดยเรื่องที่แพทย์กังวลในการใช้น้ำมันกัญชากับคนไข้คือ การหยอดยาเกินขนาด เช่นการบีบยาเร็ว บีบแรง จนทำให้ยาหยดลงมาเกินขนาด หรือในกรณีที่คนไข้ใช้แล้วไม่ได้ผลในทันที อาจจะมีการหยอดซ้ำ ภายใน 5 นาที ซึ่งจริงๆ แล้วต้องรอยาออกฤทธิ์ ใน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง โดยต้องมีการย้ำเตือนคนไข้ เพราะคนไข้อาจใช้ความรู้เดิมที่คิดว่า 1 ช้อนชานั้น ขนาดยาน้อยเกินไป แต่ลืมไปว่าน้ำมันกัญชาขวดนี้คือ สาร THC เป็นสารสกัดที่เข้มข้น สามารถใช้ได้ถึง 100 วัน 100 ครั้ง โดยน้ำมันกัญชา 1 ขวดจะบรรจุ 5 cc หากใช้ 1 หยดจะเท่ากับ 0.05 cc
ส่วนใหญ่คนไข้ที่เข้ามาพบแพทย์จะตั้งใจมาขอน้ำมันกัญชา แต่การจ่ายให้คนไข้ ต้องคัดกรองและประเมินคนไข้ ก็ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป เพราะถือเป็นการประคับประคองคนไข้ไม่ให้ทรมาน แต่ทางแพทย์ยังคงเป็นห่วงสำหรับคนไข้ที่ได้รับน้ำมันกัญชา เพราะเกรงจะหยดใช้เกินปริมาณที่กำหนด
ด้านนางสุดารัตน์ โมธินา ญาติผู้ป่วยเป็นมะเร็งลำใส้ระยะสุดท้าย ตัดสินใจเข้ามาที่คลินิกกัญชา เพราะแพทย์ระบุว่า คนไข้จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน จึงขอใช้ทางเลือกที่มีคือ การใช้น้ำมันกัญชา โดยคาดว่า จะสามารถยืดระยะเวลาของผู้ป่วยออกไปได้อีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์
- กัญชาเพื่อการแพทย์
- ครั้งแรก! งานวิจัย ‘ม.รังสิต’ ค้นพบ CBN จากกัญชา มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์’มะเร็งปอด’
- “อนุทิน” สั่งเดินหน้าน้ำมันกัญชา 1 ล้านขวด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: