ตอกย้ำความเป็นเมืองแห่ง “ฟูดอินโนโพลิส” ม.ขอนแก่น เปิดศูนย์เรียนรู้ด้านอุตสาหกรรมเกษตร สนับสนุน ต่อยอดการแปรรูปผลิตผลการเกษตร
คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2527 ในโอกาสครบวาระ 35 ปีแห่งการก่อตั้งคณะ ได้มีพิธีเปิด “ศูนย์เรียนรู้ด้านอุตสาหกรรมเกษตร (TE outlet) คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น” โดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ที่ปรึกษา รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี
อุตสาหกรรมเกษตร (Agro-industrial) ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของประเทศไทย จัดเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและโอกาสด้านการตลาด ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) นอกจากนั้นยังเป็นอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญตามนโยบาย ประเทศไทย 4.0 มีเป้าหมายสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศและประชาคมโลก
และด้วยการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมโลกในยุคดิจิทัล การเปิดประชาคมเศรษฐกิจเอเชียน รวมทั้งการเชื่อมโยงและการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศต้องมีการปรับตัวให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยต้องมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มผลิตภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็น 1 ใน 5 ของ First S-Curve ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต
ดังนั้นการมีศูนย์เรียนรู้ด้านอุตสาหกรรมเกษตรในครั้งนี้ จึงเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมเกษตร ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ด้านนายทรงศักดิ์ ทองไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เผยว่า การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยยังเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ลงทุนมากแต่ได้ผลผลิตน้อย ในอนาคตอันใกล้นี้จังหวัดขอนแก่นจะเป็นโมเดลนำร่องในการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและขยายในระดับชาติ เริ่มบริหารจัดการอุตสาหกรรมการเกษตรแบบสหกรณ์คือ แบ่งปันเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตรกัน เช่น รถแม็คโคร รถไถ และร่วมกับภาคสถาบันการศึกษานำเทคโนโลยี AI ภาพถ่ายดาวเทียมวัดค่าความหวานของอ้อยมาใช้ นอกจากนี้ต้องหมั่นศึกษาการแปรรูปสินค้าการเกษตรชนิดอื่นๆ เช่น หากน้ำตาลราคาตกก็สามารถนำอ้อยไปผลิตไบโอดีเซลเพื่อใช้ในการเกษตรแปลงใหญ่ เชื่อว่า หากหอการค้า สภาอุตสาหกรรมร่วมมือกันจะสามารถลดต้นทุนและลดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาได้ นอกจากนี้ยังเกิดกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรทั้งระบบอีกด้วย
โอกาสนี้ รศ.ดร.พรเทพ ถนนแก้ว คณบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการให้บริการของศูนย์ฯ แห่งนี้ว่า
“เรามีไลน์เรื่องของการผลิต การบรรจุหีบห่อ การออกแบบสลากและดีไซน์ ซึ่งมีเครื่องมือส่วนนี้อยู่ที่คณะเทคโนโลยี และเฟสที่ 2 อยู่ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานที่สมบูรณ์แบบ ตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงการแปรรูปออกมาเป็นแพ็คเก็จเนื่องจากโยบายของมหาวิทยาลัยที่ต้องการเน้นเรื่องของอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้นหากเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือ เอสเอ็มอี ต้องการทดลองสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมา และนำออกไปทดลองตลาด แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เราจะมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นแปรรูปผลิตภัณฑ์จนถึงการวางขายในตลาด
ตัวอย่างเครื่องมือที่เรามีให้บริการ เช่น เครื่องอบแห้ง เครื่องทำเยือกแข็ง เครื่องบรรจุแพ็กเกจ เครื่องติดสลาก ซึ่งจะครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบ โดยในส่วนโรงงานแห่งนี้ที่ตั้งขึ้นมาในช่วงแรกได้ทดลองให้ใช้ฟรีเป็นเวลาหนึ่งปี เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หรือ เอสเอ็มอี สามารถเข้ามาทดลองผลิตสินค้าในสเกลขนาดเล็ก เป็นสินค้าตัวอย่างเพื่อนำไปทดลองตลาด จนถึงการผลิตจำนวนมากๆ ใน สเกลใหญ่ได้” รศ.ดร.พรเทพ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สถาบันอาหารคาดอุตสาหกรรมอาหารไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 10%
- ขอนแก่นเดินหน้า Food Innopolis หวังเป็นศูนย์กลางวิจัยอาหารระดับภาค
- อุทยานวิทยาศาสตร์ขอนแก่น นิคมอุตสาหกรรมวิจัยในอิสาน สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า
- เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: