อิทธิพลพายุ “โพดุล” ส่งผลดีต่อนาข้าวที่กำลังขาดน้ำ นอกจากนั้นยังมีน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์วันเดียวเกือบ 3 ล้าน ลบ.ม. ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในอ่าง
หลังกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศฉบับ 9 เรื่องพายุโซนร้อน “โพดุล” ซึ่งเป็นพายุระดับ 3 ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยบริเวณ จ.นครพนม ในเช้าวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในทุกภาคของประเทศ
พบว่า ที่ จ.ขอนแก่น อิทธิพลของพายุ “โพดุล” ส่งผลให้มีฝนตกหนักและน้ำหลากท่วมพื้นที่ อ.บ้านไผ่ จนทำให้ถนนมิตรภาพถูกตัดขาด แต่ในอีกด้านหนึ่งฝนที่ตกลงมาจำนวนมากเหนือพื้นที่รับน้ำ และมีน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มขึ้น ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.เป็นต้นมา มีน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ถึง 4.31 ล้าน ลบ.ม.และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 5.80 ล้าน ลบ.ม. จากปกติที่จะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ยเพียง 1.40 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น
โดยเฉพาะในวันนี้ (2 ก.ย.62) พบว่า มีน้ำไหลเข้าเขื่อนมากที่สุดถึง 8.76 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำเก็บกัก 568 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 23.36% สามารถรองรับน้ำได้อีก 1,863 ล้าน ลบ.ม. น้ำที่ไหลเข้าจำนวนมากนี้ช่วยให้ปริมาณน้ำใช้งานติดลบน้อยลงอยู่ที่ -13.63 ล้าน ลบ.ม. หรือ -0.74% ส่วนการระบายน้ำของเขื่อนยังคงระบายที่วันละ 5 แสน ลบ.ม. เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ผลิตน้ำประปา และ รักษาระบบนิเวศน์ในลำน้ำพอง แต่ไม่สามารถใช้เพื่อการเกษตร
นายพิพัทต์ คงสินทวีสุข ผอ.โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้สัมภาษณ์ว่า “ปัจจุบันเราต้องใช้น้ำก้นอ่างไปแล้ว 14 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำก้อนนี้จะใช้เพื่อแก้ปัญหากรณีที่ฝนแล้ง ไม่มีน้ำมาเติมในอ่าง แต่หากใช้ไปจนหมด ในปีหน้าหากเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วงขึ้นมา เราจะขาดปริมาณน้ำสำรองที่จะใช้ได้
เมื่อพูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ถือว่า ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่เขื่อนอุบลรัตน์เคยพบสถานการณ์น้ำน้อยที่สุดในปี 2536 ในปีนั้นมีน้ำในอ่างเพียง 13% ถือว่าน้อยที่สุดตั้งแต่ก่อสร้างเขื่อนมา รองลงไปคือปี 2537 มีน้ำเพียง 14% มีน้ำในเขื่อนประมาณ 300 กว่าล้าน ลบ.ม. ในปี 2536 เราต้องใช้น้ำก้นอ่างไปถึง 166 ล้าน ลบ.ม. แต่ปัจจุบันใช้น้ำก้นอ่างไปแล้ว 14 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้ก็ติดตามสถานการณ์ซึ่งโดยปกติในภาคอีสานจะมีฝนตกชุกในเดือน ส.ค. ก.ย. และ ต.ค. ก็คาดว่า จะมีฝนตกและมีน้ำมาเติมในเขื่อนมากขึ้น
ขณะนี้ทางเขื่อนได้ติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิดและได้มีการทำงานประสานกับทุกภาคส่วนและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จ.ขอนแก่น ในการบริหารน้ำที่มีอยู่ไม่มากให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ก็ขอฝากประชาชนทุกท่านขอให้เชื่อมั่นว่า ทางเขื่อนสามารถจ่ายน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปาได้อย่างเพียงพอ ไม่มีปัญหาขาดน้ำอย่างแน่นอน” นายพิพัทต์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีมีรายงานว่า ปริมาณฝนที่ตกลงมาเพิ่มขึ้นขณะนี้ช่วยให้ต้นข้าวในพื้นที่ อ.อุบลรัตน์ ที่ขาดน้ำมานานเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงจนทำให้นาข้าวเสีย หายหลายร้อยไร่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: