ขอนแก่น – พิธีเสียเคราะห์ หรือการสะเดาะเคราะห์แบบพื้นบ้านอิสานจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงตรุษสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย ตามความเชื่อว่าเป็นการเริ่มต้นไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ปัดเป่าสิ่งไม่ดีให้สูญสลายไป
งานเทศกาลสงกรานต์ที่จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นสงกรานต์ 2 วิถี เพราะไม่เพียงจะมีบรรยากาศความสนุกคึกคักของถนนข้าวเหนียว แต่ยังมีการจัดงานสงกรานต์ตามแบบวิถีดั้งเดิมของชาวอิสานที่วัดไชยศรี ที่บ้านสาวะถี ในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นเพียง 20 กิโลเมตร
วัดไชยศรี เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อกว่า 150 ปีมาแล้ว สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในวัดแห่งนี้ก็คือ โบสถ์ หรือเรียกว่า “สิม” ในภาษาอิสาน ฝาผนังทั้งด้านนอกและด้านในสิมแห่งนี้เต็มไปด้วย “ฮูปแต้ม” หรือ “รูปแต้ม” ภาพเขียนสีฝีมือช่างพื้นบ้านเขียนเป็นเรื่องราวของพุทธประวัติ สังข์ศิลป์ชัย พระเวสสันดรชาดก และภาพสัตว์ต่างๆ
ข่าวน่าสนใจ:
- จ.ขอนแก่น เปิดงาน "มหกรรมหมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์"ระหว่างวันที่ 25 - 29 ธ.ค.67 ณ เวทีกลาง หน้าศาลากลาง
- จักรยานยนต์ขับย้อนศรชนหนุ่มใหญ่ เจ็บสาหัสก่อนเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
- มหกรรมสุดยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี จ.ขอนแก่น งานเทศกาล “ปลาร้า หมอลำ ISAN to the World‘24” วันที่ 26-29 ธ.ค. 67 ณ ลานศรีจันทร์ อาคารขอนแก่น…
ฮูปแต้มที่นี่ได้รับการยอมรับว่า มีความสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในสิมอิสานของไทย มีคุณค่าในแง่มุมของศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอิสาน นอกจากนี้วัดไชยศรียังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในชุมชน เมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ไทยที่นี่จะมีการจัดงานตรุษสงกรานต์ตามแบบวัฒนธรรมอิสานดั้งเดิม เช่น การสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ การขนทรายเข้าวัด หรือพิธีแห่ดอกไม้ นอกจากนั้นยังมีการจัดพิธีกรรมที่หาชมได้ยาก เรียกว่า พิธีเสียเคราะห์ หรือ พิธีสะเดาะเคราะห์
พิธีนี้สืบทอดกันมานับร้อยๆ ปี ซึ่งคำว่า เคราะห์ หมายถึง สิ่งที่เรายึดติดในจิตใจ เป็นคำกลางๆ ส่วนที่ดีเรียกว่า เคราะห์ดี ส่วนที่ไม่ดีจะเรียกว่า เคราะห์ร้าย สำหรับความหมายในพิธีกรรมของชุมชนสาวะถี คำว่า เสียเคราะห์ หมายถึง การทำให้เคราะห์ที่ไม่ดี หรือสิ่งที่ไม่เป็นมงคลในชีวิตสูญสลายไป
พิธีนี้จัดขึ้นทุกวันที่ 13 เมษายน หลังได้ยินเสียงตีฆ้อง ก็เป็นสัญญาณให้ชาวบ้านมารวมตัวที่วัดพร้อมนำเครื่องสังเวยหรือเครื่องเสียเคราะห์ เป็นกระทงสี่เหลี่ยมทำจากกาบกล้วยและไม่ไผ่ แบ่งเป็น 9 ช่อง แต่ละช่องจะใส่ข้าวตอก ดอกไม้ น้ำส้มป่อย ข้าวดำ ข้าวแดง ข้าวเหลือง ฝ้ายดำ ฝ้ายแดง ฝ้ายขาว ฝ้ายเหลือง เป็นต้น
ทุกคนจะมารวมตัวภายในบริเวณกำแพงสิม ซึ่งทางวัดจะจัดโยงด้ายสายสิญจน์สำหรับประกอบพิธีเสียเคราะห์ให้อย่างทั่วถึง เมื่อได้เวลาสมควรพระและเณรจะเข้าไปในสิมเพื่อไหว้พระทำวัตร กล่าวความหรือคำเสียเคราะห์ อันเป็นภาษาอิสานตามตำราโบราณที่สืบทอดกันมา ให้เทวดา ภูตผีเจ้าชะตาลงมาเอาเครื่องบูชาที่เตรียมไว้ ให้เคราะห์หายไปจากเจ้าของเครื่องเสียเคราะห์ มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ประสบความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป
จากนั้นทุกคนจะนำเครื่องเสียเคราะห์ไปทิ้งในสถานที่ที่ทางวัดกำหนดแล้วเดินกลับเลย โดยมีข้อห้ามไม่ให้หันหลังกลับไปมองอีก ตามคติความเชื่อโบราณที่ว่า เมื่อทิ้งสิ่งที่ไม่ดีแล้วก็ให้ตัดใจไม่กลับไปข้องแวะอีก สิ่งที่ไม่ดีที่เกี่ยวข้องในชีวิตนั้นก็จะไม่กลับมาเป็นอุปสรรคอีกเลย จากนั้นทุกคนจะมาร่วมกันสรงน้ำพระพุทธรูปเก่าที่อัญเชิญลงมาจากสิม เป็นอันเสร็จพิธี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: