X
ปราสาทเปือยน้อย

ชาวอำเภอเปือยน้อยร่วมใจสวมผ้าซิ่นใส่บาตรพระสงฆ์ 

นายอำเภอเปือยน้อย จ.ขอนแก่น นำประชาชนตักบาตรพระสงฆ์ พร้อมจัดกิจกรรม “เยือนปราสาทหิน ใส่ผ้าซิ่น ชมถิ่นอารยธรรม” เผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวปราสาทขอมให้เป็นที่รู้จัก

เช้าวันนี้ ที่บริเวณหน้าปราสาทเปือยน้อย บ้านหัวขัว ตำบลเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น  พ.อ.อ. ทวี บุญช่วย นายอำเภอเปือยน้อย พร้อมด้วยภริยา นาวาเอกหญิง คนึงนิตย์ บุญช่วย นายกกิ่งกาชาดอำเภอเปือยน้อย นำข้าราชการและประชาชนชาวอำเภอเปือยน้อยกว่า 100 คน สวมใส่ผ้าซิ่น ผ้าไทยอีสาน ร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแด่พระสงฆ์ จำนวน 29 รูป ในกิจกรรม “ร่วมตักบาตร เยือนปราสาทหิน ใส่ผ้าซิ่น ชมถิ่นอารยธรรม”

พ.อ.อ. ทวี บุญช่วย นายอำเภอเปือยน้อย กล่าวว่า กิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์ 29 รูป นอกจากจะให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้รับรู้และสานต่อประเพณีวัฒนธรรมการตักบาตรของชาวพุทธแล้ว กิจกรรมนี้ยังจัดขึ้นเพื่อต้องการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่รักและหวงแหนแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานเก่าแก่อายุร่วม 900 ปี รวมถึงเผยแพร่แหล่งอารยธรรมโบราณอย่างปราสาทเปือยน้อยให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อสร้างผู้นำเยาวชนเปือยน้อยรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสาและสำนึกรักษ์พัฒนาบ้านเกิดทำประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชนที่อยู่อาศัย ผ่านการเข้ามามีส่วนร่วมในนามชมรมรักษ์ปราสาทเปือยน้อย และที่สำคัญจะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาท่องเที่ยวชมปราสาทเปือยน้อยมากยิ่งขึ้น

สำหรับกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกและเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในอำเภอเปือยน้อย โดยเฉพาะแกนนำเยาวชนรุ่นใหม่ของอำเภอเปือยน้อย  สมาชิกของชมรมรักษ์ปราสาทเปือยน้อย นอกจากการตักบาตรรพระสงฆ์แล้ว  ก็ยังมีมัคคุเทศก์น้อย โดยนักเรียนจิตอาสามาคอยแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย

ปราสาทเปือยน้อย มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระธาตุกู่ทอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17
ออกแบบเป็นศิลปะผสมระหว่างศิลปะเขมรแบบบาปวน แบบนครวัด และแบบคลัง  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู โดยแผนผังการก่อสร้างมีความหมายเป็นเขาพระสุเมรุซึ่งถือเป็นแกนจักรวาล อันเป็นที่สถิตย์ของเทพเจ้าที่เรียกว่า “ศาสนบรรพต” ประกอบด้วย ปราสาทอิฐ 3 หลังตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ที่มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้มีอาคารบรรณาลัย 1 หลัง และกำแพงศิลาแลงล้อมรอบต่อเชื่อมกับโคปุระ หรืออาคารประตูซุ้มทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก  นอกจากนี้ยังมีคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ถัดออกมาด้านหน้ามีชาลา หรือชานเรือนที่ยกระดับสูงกว่าเบื้องล่าง  ถัดออกไปทางด้านทิศตะวันออก มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า “สระวงษ์”  ที่สำคัญคือ ที่ตัวปราสาทหลังกลางมีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่มีความสวยงามสมบูรณ์มากอีกแห่งหนึ่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น