ขอนแก่น – ศูนย์ปฎิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงแจ้งประชาชนไม่ต้องหวั่นวิตกการเกิดพายุลูกเห็บ เจ้าหน้าที่พร้อมปฎิบัติการควบคุมและบรรเทาได้ทันท่วงทีทุกพื้นที่ โดยเฉพาะชุมชนและพื้นที่การเกษตร
นางสาว วาสนา วงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ทางศูนย์ปฎิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงได้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์การเกิดพายุฤดูร้อนและฝนฟ้าคะนองในพื้นที่ภาคอิสานอย่างใกล้ชิด และมีแผนการบินปฏิบัติการ เพื่อป้องกันและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บในแต่ละพื้นที่
ข่าวน่าสนใจ:
โดยจะมีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดพายุลูกเห็บโดยตรง ผ่านทางไลน์ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพบว่า พื้นที่ใดเสี่ยงต่อการเกิดพายุลูกเห็บ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรของประชาชน เพื่อให้เตรียมการป้องกันและรับมือกับภัยธรรมชาตินี้ ขณะเดียวกันทางศูนย์ฯ จะขึ้นบินปฏิบัติการทันที เพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
สำหรับพายุลูกเห็บนั้น เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะเมื่ออากาศเย็นจาก ประเทศจีนแผ่ลงมาปะทะกับอากาศร้อนและชื้นในประเทศไทย โดยจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน หรือเกิดช่วงเวลาไล่เลี่ยกันในหลายพื้นที่ ทีมปฏิบัติการยับยั้งและสลายลูกเห็บจะวางแผนบินปฏิบัติการ โดยใช้เครื่องบินซุปเปอร์คิงส์แอร์ ที่มีฐานบินอยู่ที่สนามบิน จ.พิษณุโลก บินตรงมายังพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดลูกเห็บ และยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ ให้ลูกเห็บซึ่งเป็นน้ำแข็งกลายเป็นเม็ดฝนหรือลดขนาดให้เล็กลง ก่อนตกลงมา
สารซิลเวอร์ไอโอไดด์ เป็นสารที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแกนผลึกน้ำแข็งในธรรมชาติ จะทำการยิงผ่านจอเรดาร์เข้าไปในกลุ่มเมฆที่มีการจับตัวกันที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสเป็นลูกเห็บ เพื่อสลายผลึกน้ำแข็งธรรมชาติที่จะก่อตัวเป็นลูกเห็บ ให้เปลี่ยนสถานะเป็นเม็ดฝนตกลงมาแทนเพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดต่อบ้านเรือนหรือพื้นที่ทางการเกษตร
ที่ผ่านมาสามารถสลาย ”พายุลูกเห็บ” ได้สำเร็จ ในเขตพื้นที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เขตพื้นที่อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ และเขตพื้นที่จังหวัดเลย และจะย้ายฐานการปฏิบัติการทำ ฝนหลวงยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บมาที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ควบคู่กับการเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูแล้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การบินปฏิบัติการไม่สามารถปฏิบัติการได้ทุกพื้นที่ ด้วยข้อจำกัดเรื่องเครื่องบินแต่ทั้งนี้จะได้มีการแจ้งเตือนไปยังกลุ่ม เป้าหมาย อาสาสมัครฝนหลวงของแต่ละจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปภ. ปชส.จังหวัด เพื่อกระจายข่าวไปยังพี่น้องประชาชนให้รับทราบและเตรียมการป้องกันได้ทันท่วงที
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: