ขอนแก่น – เสาไฟฟ้าเมืองไทยเต็มไปด้วยสายต่างๆ ที่ระโยงระยางพันกันจนยุ่งเหยิง วุ่นวาย บ่อยครั้งที่สายเหล่านี้หย่อนขาดตกลงมากีดขวางถนน และทำให้เกิดอุบัติเหตุที่น่าเศร้า ซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงเวลาต้องเร่งจัดระเบียบสายไฟเหล่านี้
จากกรณี นางสาวมณีเนตร เจริญเหง่า อายุ 40 ปี ชาวขอนแก่นถูกสายเคเบิลที่หลุดลงมากลางถนนเกี่ยวที่บริเวณลำคอจนเสียชีวิต ขณะขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมาบนถนนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เหตุเกิดเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา กลายเป็นอุบัติเหตุสยองที่น่าเศร้า โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตเป็นกำลังหลักของครอบครัวที่มีภาระดูแลสมาชิกในบ้านอีก 5 ชีวิตที่เต็มไปด้วยเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ นอกจากนั้น เหตุร้ายนี้ยังทำให้สังคมเกิดคำถามถึงการดูแลสายที่ระโยงระยางอยู่บนเสาไฟฟ้า ที่บ่อยครั้งก็ขาดและตกลงมากีดขวางถนน จนทำให้เกิดอุบัติเหตุ นับครั้งไม่ถ้วน
นอกจากนี้เมื่อปีที่ผ่านมา ก็เคยมีข่าวบิล เกตต์ เจ้าพ่อไม่โครซอฟท์ เคยโพสต์ FB กล่าวถึงสายไฟฟ้าในเมืองไทยว่า ระโยงระบางยุ่งเหยิงและอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เมื่อลองกลับมาพิจารณาเสาไฟฟ้าแต่ละต้น เราจะพบว่า เสาไฟฟ้าหนึ่งต้นเต็มไปด้วยเส้นสายต่างๆ พาดผ่าน ในแต่ละชั้น นั่นคือ บนถนนสายหลักจะติดตั้งเสาไฟฟ้า 4 ขนาดคือ เสาสูง 22 เมตร 12 เมตร 10 เมตร และ 8.50 เมตร แล้วแต่สภาพพื้นที่ แต่สำหรับในซอยส่วนมากจะเป็นเสาขนาด 12 เมตร และ 8.50 เมตร
ข่าวน่าสนใจ:
ชั้นบนสุดของเสาไฟฟ้าที่สูง 12 เมตร จะติดตั้งสายไฟฟ้าแรงสูง 22,000 โวลต์ สายไฟชนิดนี้อันตราย เข้าใกล้ไม่ได้ จึงติดตั้งให้อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 10 เมตร ต่อมาคือ ความสูงจากพื้นในระดับ 8 เมตร จะเป็นสายไฟฟ้าแรงต่ำ 230 หรือ 400 โวลต์ ซึ่งเป็นสายไฟที่จ่ายไฟเข้าบ้านเรือนประชาชน และสุดท้ายที่ความสูงจากพื้นในระดับ 5-5.50 เมตร ที่เราเห็นเป็นสายหลายๆ เส้นขดกันจำนวนมาก นั่นคือ สายสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งประกอบด้วย 1.สายออพติกไฟเบอร์ หรือสายอินเทอร์เน็ต 2.สายเคเบิลโทรศัพท์ 3.สายเคเบิลทีวี 4.สายควบคุมสัญญาณจราจร 5.สายสื่อสารกล้องวงจรปิด ทั้งหมดนี้จะพาดสายอยู่ในระดับเดียวกัน ที่เราเห็นพันกันไปมาจนยุ่งเหยิงนั่นเอง
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมต้องวางทุกสายอยู่รวมในเสาไฟฟ้าต้นเดียวกันเช่นนี้ คำตอบคือ เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะหากต้องตั้งเสาเฉพาะสำหรับสายแต่ละชนิด ก็จะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลซ้ำซ้อนโดยใช่เหตุ การดูแลรักษาลำบาก กีดขวางสภาพแวดล้อม และยังทำให้เกิดทัศนียภาพไม่น่าดูอีกด้วย ปัจจุบันการไฟฟ้าฯ ได้พยายามจัดระเบียบสายเหล่านี้แล้ว โดยวิธีการ “รวบ รัด มัด ตรึง” คือ รวบสายให้อยู่รวมกัน แล้วรัด มัดให้แน่น สายที่หย่อนก็จับตรึง ส่วนสายที่ไม่ได้ใช้งาน ไม่มีเจ้าของก็ตัดทิ้ง โดยจะไล่ดำเนินการให้ครบทุกพื้นที่ นอกเหนือไปจากโครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน
ทั้งนี้หากพบเห็นพื้นที่ๆ ไม่ปลอดภัย มีสายห้อยระโยงระยางกีดขวางถนนหรือทางเดิน สามารถแจ้งที่คอลเซ็นเตอร์ 1129 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พร้อมระบุพิกัดสถานที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเร่งประสานผู้รับผิดชอบไปแก้ใขให้โดยด่วน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: