X
ไก่ไร้เก๊าท์

ม.ขอนแก่นรับรางวัลวิจัยดีเด่น “ไก่ 3Low”

มข.รับรางวัลวิจัยดีเด่นด้านพาณิชย์จาก สกสว. จากผลงาน “ไก่ 3low” หรือ “ไก่ไร้เก๊าท์” เตรียมต่อยอดส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศ

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการ  ในคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย  ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เป็นประธานมอบโล่รางวัลงานวิจัยเด่น ด้านพาณิชย์ ประจำปี 2561 จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์  วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) แด่ ศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากผลงาน “ไก่ 3 Low อาหารคุณภาพ เกาต์กินได้”  โดยมีผู้แทนนักวิจัยจากสถาบันต่างๆ เข้าร่วมงานกว่า 300 คน ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนดิเนนตัล กรุงเทพมหานคร

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กำหนดนโยบาย แผนยุทธศาสตร์สนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พัฒนา ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์  การจัดงานครั้งนี้เพื่อให้นักวิจัยรุ่นใหม่และสาธารณชนได้เห็นต้นแบบงานวิจัยที่ส่งมอบประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง

ด้าน ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น นักวิจัยผู้ได้รับรางวัลวิจัยเด่น ด้านพาณิชย์ ประจำปี 2561 กล่าวว่า งานวิจัยนี้เริ่มต้นจากปัญหาสุขภาพที่พบว่า คนทั่วโลกมีอัตรการป่วยเป็นเกาต์เพิ่มมากขึ้น ปัญหาการวิจัยคือ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานเนื้อไก่โดยลดอาการเกาต์

มหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใต้การสนับสนุนทุนจาก สกสว. จึงได้พัฒนาไก่สายพันธุ์ KKU ONE ผสมสายพันธุ์ระหว่าง ไก่พื้นเมือง (เนื้อเหนียว) กับไก่ทางการค้า (เนื้อหยุ่ย) ทำให้ได้เนื้อสัมผัสที่นุ่มแน่นกำลังดี  เพราะมีจำนวนและขนาดของกล้ามเนื้ออยู่ระหว่างไก่เนื้อทางการค้าและไก่พื้นเมือง

ทั้งนี้เมื่อใช้เครื่องมือแสงซินโคตรอนที่สามารถบ่งชี้ปริมาณสารพิวรีน ซึ่งสัมพันธ์กับกรดยูริค อันเป็นสาเหตุการเกิดโรคเกาต์ในมนุษย์  จากผลการวิจัยพบว่า ไก่สายพันธ์ KKU ONE มีปริมาณกรดยูริคต่ำกว่าไก่เนื้อทางการค้าที่เลี้ยงในโรงเรือนปรับอากาศ  เนื่องจากอาหารของไก่เนื้อมีสารพิวรีนสูง ในขณะเดียวกันพบว่า สายพันธุ์ KKU ONE พบไขมันในช่องท้องต่ำ และมีโปรตีนชนิดย่อยง่ายสูง มีปริมาณคอเลสเตอรอลต่ำกว่าไก่ทางการค้า ลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ

ฉะนั้น ด้วยคุณสมบัติของการผสมสายพันธุ์ระหว่างไก่เนื้อกับไก่พื้นเมือง จึงได้สายพันธุ์ไก่ที่ตอบทุกโจทย์ปัญหาสุขภาพ นำไปสู่การขับเคลื่อนตลาดเชิงพาณิชย์ “KKU ONE เหมาะเป็นอาหารผู้สูงวัย นักกีฬา ซึ่งปัจจุบันโลกก็ก้าวสู่สังคมสูงวัยและผู้รักสุขภาพ ปัจจุบันมีการขยายไก่พันธุ์ KKU ONE ให้แก่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ส่วนในประเทศได้ทำข้อตกลงเป็นไก่ประชารัฐ ตลาดร้านอาหารตำมั่ว ขึ้นห้างฟู้ดแลนด์ สร้างรายได้ให้เกษตรกร

โดยบริษัทประชารัฐขอนแก่นฯ ส่งเสริมเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่นกว่า 20 อำเภอให้เลี้ยงและทางบริษัประชารัฐฯ รับซื้อ เกษตรกรจะได้ 20 บาทต่อกิโลกรัม การันตีรายได้ขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท ต่อเดือน โดยใช้เวลาเลี้ยงเพียง 35 วัน  โดยไม่ต้องมีโรงเรือนปรับอากาศ ประชารัฐจะหักต้นทุนค่าอาหาร และโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของเกษตรกร ทั้งนี้ที่ผ่านมายังไม่มีเกษตรกรขาดทุน แต่กำลังการเลี้ยงไม่ทันต่อความต้องการของตลาด ซึ่งต้องการ 5 พันตัวต่อสัปดาห์”

รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต่อว่า หากสามารถขยายพันธุ์ไก่ตอบสนองต่อตลาดทั้งภายในและนอกประเทศใน 5 ปี มีความต้องการ 5 ล้านตัว หรือราว 200 ล้านบาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจชาติได้อย่างดี ทั้งนี้ยืนยันว่า สายพันธุ์ไก่พันธุ์ต้นแบบถูกเพาะเลี้ยงสายพันธุ์แท้จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างไรก็ตามกรดยูริคนั้น ควบคุมด้วยสายพันธุ์มากกว่าอาหาร โดยมีแนวโน้มจะพัฒนาสายพันธุ์ทำให้ยูริคในไก่ต่ำกว่านี้ในอนาคต เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสุขภาพ และขับเคลื่อนชาติด้วยวิจัยและนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น