ขอนแก่น – จังหวัดขอนแก่นและสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจับมืออนุรักษ์กล้วยไม้ “ช้างกระ” เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว “อันซีนอิสาน” ที่ยั่งยืนของชุมชน และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อสังคมของจังหวัดในโอกาสต่อไป
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานนำสมาชิกชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น ส่วนราชการ และประชาชนจิตอาสา ร่วมกันปลูกกล้วยไม้ช้างกระบนต้นมะขาม ภายในบริเวณวัดป่ามัญจาคีรี อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น
อุทยานวัดป่ามัญจาคีรี ที่นี่ถือเป็นแห่งเดียวในประเทศที่มีกล้วยไม้ป่าพันธุ์ช้างกระที่เกิดขึ้นเองและเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติกว่า 4,000 ช่อ เกาะอยู่ตามลำต้นและกิ่งต้นมะขามที่มีอายุกว่าร้อยปี ทุกปีในฤดูหนาว เมื่อย่างเท้าเข้ามาในบริเวณวัด ก็จะได้กลิ่นหอมของดอกกล้วยไม้ที่ฟุ้งกระจายไปทั่ว ถือเป็น “อันซีนอีสาน” และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอมัญจาคีรี แต่ปัจจุบันกล้วยไม้ที่นี่กำลังลดจำนวนจนน่าเป็นห่วง คาดกันว่า กล้วยไม้ที่นี่ลดจำนวนลงไปเกือบร้อยละ 50 จากปัญหาการ ลักขโมย รวมถึงความแห้งแล้งที่ส่งผลให้กล้วยไม้ล้มตายไปมาก
ทางจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจึงได้จัดโครงการ “คืนช้าง(กระ)สู่ป่ามัญจาคีรี” ด้วยการร่วมใจปลูกกล้วยไม้ช้างกระจำนวน 2,200 ต้นให้เต็มผืนป่า ทุกคนต้องปีนบันไดนำกล้วยไม้อายุ 1-2 ปี ขึ้นไปตอกตรึงบนต้นไม้ใหญ่ จากนั้นแต่ละต้นจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนจึงจะเติบโตติดกับต้นไม้ได้ โดยมี พระในวัด และ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอำเภอมัญจาคีรี ช่วยดูแลกล้วยไม้เหล่านี้ร่วมกับชุมชน
ส่วนปัญหาเรื่องการลักขโมย ขณะนี้กำลังมีโครงการให้ชุมชนที่นี่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์กล้วยไม้ ช้างกระ ด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกและนำมาจำหน่ายที่วัดเพื่อขยายพันธ์ช้างกระให้มากขึ้น สร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชน และเป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมเพื่อสังคมของจังหวัดขอนแก่นในโอกาสต่อไป
สำหรับการขยายพันธุ์กล้วยไม้ได้รับการสนับสนุนจากสวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่นเนื่องจากกล้วยไม้ช้างกระเป็นไม้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ที่ผ่านมาทางสวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่นจึงได้เข้ามาจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนและประชาชนให้มีความเข้าใจในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เช่น กิจกรรมไม้ออกขวด การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และในโครงการนี้ทางสวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่นได้สนับสนุนการอนุรักษ์และขยายพันธุ์กล้วยไม้ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ก่อนนำออกจากขวดไปอนุบาลในโรงเรือน เมื่อมีอายุประมาณ 1-2 ปี จึงนำขึ้นปลูกบนต้นไม้ต่อไป
นายภพพล เกษมสันต์ ณ อยุธยา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ขอนแก่น กล่าวว่า “หลังปลูกไปแล้วเราก็ยังดูแล พอดีมีอาจารย์ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมัญจาคีรีมาช่วยเราด้วย ทางอำเภอก็ให้ความสำคัญจัดงบประมาณมาให้ดูแลที่นี่ ทางสมาคมฯ เองก็ไม่ทิ้งเรื่องนี้ เราจะกลับมาดูทุกปี ทุกหน้าฝนก็จะกลับมาปลูกเพิ่ม หน้าหนาวเราก็จะพานักท่องเที่ยวมาดู
สำหรับปัญหาเรื่องลักขโมยค่อนข้างป้องกันยาก แต่หลังๆ ก็น้อยลงแล้วเพราะวัดก็มีรั้วรอบขอบชิดแล้ว ตอนนี้เราจะให้ชาวบ้านเพาะกล้วยไม้ช้างกระเอง เพราะฉะนั้นไม่ต้องขโมย เรามาขายต้นละ 50 หรือ 100 ที่วัดนี่จะให้มาวางขายเลย โดยเราจะทำร้านขึ้นมา เพราะมัญจาคีรีมีไหมที่เรียกว่า ไหมอีรี่ เป็นตัวไหมที่กินมันสำปะหลัง เราก็จะเอาผลิตภัณฑ์ของเขามาวางขายที่วัดนี้ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบให้ได้ ส่วนสถานที่นี่เราก็จะให้เป็นที่จัดกิจกรรมเพื่อสังคม โดยที่เราจะมีคอนเซ็ปต์เหมือนเราไปวัด ไปทำบุญ แต่สำหรับที่นี่เรามาปลูกกล้วยไม้กัน ก็ได้บุญเหมือนกัน หรือถ้าเรามีประชุมสัมมนาใหญ่ๆ เขาต้องการทำ CSR ในจังหวัดขอนแก่น เราก็จะเชิญมาที่นี่ เพราะจะมีทั้งหมู่บ้านเต่า และกล้วยไม้ช้างกระ และก็ต่อไปถึงผ้าไหมของชนบทได้ ระยะทางไม่ไกลกัน” นายภพพล กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: