ประมง จ.ขอนแก่น นำร่องจัดกิจกรรมกำจัดปลาซัคเกอร์ เอเลี่ยนสปีชีส์ในแหล่งน้ำ โดยการรับซื้อไปทำปุ๋ยและอาหารสัตว์ เชิญเชฟสาธิตประกอบเมนูอาหารจากเนื้อปลา
นาย สมศักดิ์ จังตะระกูล ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานเปิดกิจกรรมการแก้ไขปัญหาปลาซัคเกอร์ระบาดในบึงทุ่งสร้าง จัดขึ้นบริเวณสวนสาธารณะบึงทุ่งสร้าง เขตเทศบาลนครขอนแก่น เพื่อแก้ ปัญหาการแพร่พันธุ์จำนวนมากของปลาซัคเกอร์จนส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ในบึง ทั้งไปแย่งอาหารปลาชนิดอื่น กินไข่ปลา ทำให้ปริมาณปลาพื้นถิ่นชนิดอื่นลดจำนวนลง โดยวันนี้มีการจัดกิจกรรมรับซื้อปลาซัคเกอร์จากชาวประมงตั้งแต่วันที่ 10-28 มิ.ย.62 ในราคากิโลกรัมละ 3 บาท และ กิจกรรมร่วมกำจัดปลาซัคเกอร์และทำความสะอาดรอบบึงทุ่งสร้าง โดยมีการสาธิตการปรุงอาหารจากปลาซัคเกอร์โดยเชฟชื่อดัง และเก็บซากปลาซัคเกอร์บริเวณชายฝั่งรอบบึงทุ่งสร้าง โดยกำลังพลจากมณฑลทหารบกที่ 23
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับปลาซัคเกอร์ หรือ ปลากดเกราะ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแหล่งน้ำของทวีปอเมริกาใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2520 มีการนำปลาชนิดนี้เข้ามาเลี้ยงในเมืองไทยเพื่อทำความสะอาดตู้ปลา เมื่อพบว่า มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีรูปร่างน่ากลัว คนเลี้ยงจึงนำมาปล่อยทิ้งตามแหล่งน้ำสาธารณะ เมื่อแพร่ขยายจำนวนมากขึ้นก็ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์น้ำจืดอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่มีผู้นำปลาซัคเกอร์ไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติกันมาก เพราะเชื่อว่า ปลาซัคเกอร์คือปลาราหู จึงนำไปปล่อยเพื่อหวังสะเดาะเคราะห์ ซึ่งกลายเป็นปัญหาอย่างมากถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน ปลาซัคเกอร์มีปัญหาแพร่ระบาดใน 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี กรุงเทพฯ นครพนม เพชรบูรณ์ นครราชสีมา ชลบุรี และ นครศรีธรรมราช ซึ่งวิธีการกำจัดปลาซัคเกอร์มีทั้งการนำไปปรุงอาหาร ทำปุ๋ยหมัก อาหารสัตว์ ไม่ปล่อยปลาลงแหล่งน้ำสาธารณะ
ผศ.ดร. พรเทพ เนียมพิทักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “ปลาชนิดนี้เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์จึงส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ในประเด็นสำคัญคือ ปลาซัคเกอร์จะกินไข่ของปลาพื้นถิ่น นอกจากนี้แล้วยังแย่งอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน ทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตและหายไปจากธรรมชาติ ถือว่ามีข้อเสียค่อนข้างมาก
การกำจัดก็มีด้วยกันหลายวิธีๆ หนึ่งก็คือ การนำปลาขึ้นมาจากสระน้ำและปล่อยให้ตาย อีกวิธีคือ การใช้สารเคมีแต่วิธีนี้จะเป็นการฆ่าสัตว์น้ำชนิดอื่นที่อยู่ในระบบนิเวศไปด้วย ซึ่งวิธีการนำขึ้นจากสระน้ำมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น ก็คือนำมาปรุงเป็นอาหารเพราะเนื้อปลาซัคเกอร์สามารถบริโภคได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เป็นที่นิยมบริโภคเพราะรูปลักษณ์ที่ไม่สวยงาม ช่วงลำตัวแล่ได้ยากเพราะมีเกราะแข็งป้องกัน อีกทั้งยังมีปริมาณเนื้อประมาณ 10% ของน้ำหนักตัว เมื่อเทียบกับปลานิลซึ่งจะมีเนื้อประมาณ 35% แต่การนำเนื้อมารับประทานก็ถือเป็นวิธีการกำจัดปลาอีกวิธีหนึ่ง
สำหรับวิธีการบริโภคแนะนำว่า ควรรับประทานเฉพาะเนื้อปลา หลีกเลี่ยงการทานในส่วนของลำไส้เพราะซัคเกอร์เป็นปลาที่ดูดกินเศษอาหารต่างๆ ทั้งแพลงต้อนหรือสัตว์น้ำตัวเล็กๆ ซึ่งจะดูดซับสารพิษต่างๆ ไว้มาก แล้วก็จะสะสมอยู่ที่ลำไส้ และก็ตับของปลา”
ด้านนาย วิเชียร วรสายัณห์ ประมง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า “ที่ผ่านมาปลาพวกนี้จะไม่ถูกกำจัดเลยเพราะว่าคนไม่รับประทาน และด้วยความที่มันมีความสามารถในการปรับตัวได้ดี เติบโตได้อย่างรวดเร็ว และมีศัตรูทางธรรมชาติน้อยมาก ทำให้มันแพร่พันธุ์จนเต็มบึงทุ่งสร้าง ทั้งนี้เนื่องจากว่าบึงแห่งนี้เป็นแหล่งรับน้ำเสียจากชุมชน ซึ่งจะทำให้มีสารอาหารมาก มีลักษณะเป็นบึงปิด แหล่งน้ำไม่ได้ถ่ายเทออกไปที่อื่นจึงส่งผลให้ปลาซัคเกอร์แพร่พันธุ์จนเต็มบึง
วันนี้ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากนี้จะเว้นไปอีก 3-4 เดือนจะจัดอีกครั้ง เพื่อทิ้งระยะให้ปลาซักเกอร์ตัวอ่อนได้โตขึ้นให้เราจับขึ้นมาอีก ซึ่งต้องทยอยเอาออก เมื่อเราเอาปลาซัคเกอร์ออกได้พอสมควรแล้วหลังจากนี้ทาง สนง.ประมงจังหวัด จะเริ่มปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงมาในบึงแห่งนี้ อาจจะเป็นพวกปลาเศรษฐกิจมาปล่อยเพิ่มเติม แต่กิจกรรมรับซื้อปลาซัคเกอร์ก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ โดยเราจะมุ่งเน้นในกลุ่มของชาวประมงหาปลา เพื่อไม่ให้เค้าโยนกลับลงไปในน้ำหรือโยนทิ้งเป็นซากไว้บนฝั่ง มันก็จะกลายเป็นมลพิษทางกลิ่นตามมาอีก
ตอนนี้เราก็รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 3 บาท สำหรับวันนี้ก็สามารถรับซื้อได้ประมาณ 100 กิโลกรัม แต่จริงๆ แล้วคือเราอยากจะสร้างทัศนคติว่า ปลาซัคเกอร์ก็สามารถบริโภคได้ ถ้าหากว่าสามารถจับได้ 5-7 ตัวก็เพียงพอสำหรับนำไปปรุงอาหารแล้ว เพราะในประเทศถิ่นกำเนิดทางอเมริกาใต้ เขาก็นำปลาซัคเกอร์เหล่านี้มาเป็นอาหารเช่นกัน เพราะหลายคนที่มาในวันนี้ก็จะแปลกใจว่า มันบริโภคได้จริงหรือ เราก็เลยจัดกิจกรรมสาธิตการปรุงอาหารให้ดูว่า มันสามารถรับประทานได้จริงๆ จะเอาไปผัด ไปลาบ หรือไปย่างเป็นปลาเผา ก็สามารถทานได้เช่นกัน เพียงแต่เราไม่คุ้นชินเห็นหน้าตามันน่าเกลียดก็เลยไม่รับประทานกัน
บางคนยังถือว่าเป็นราหูต้องนำไปปล่อยสะเดาะเคราะห์ ตรงนี้ผมต้องขอความร่วมมือว่า อย่าปล่อยลงแม่น้ำลำคลองเพราะมันจะมีปัญหาอย่างอื่นตามมา ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นกิจกรรมที่เราจัดขึ้นเพราะคิดว่ามันจะช่วยลดเรื่องการแพร่ระบาดลงได้ ถ้าหากว่าในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าเรามารับซื้อแล้ว ชาวบ้านไม่นำมาขายให้เราแล้ว อันนี้ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่า เขาเริ่มรู้จักนำมันไปปรุงอาหารได้แล้วเหมือนปลาพื้นถิ่นชนิดอื่นๆ เราก็ไม่ต้องรับซื้อจากเขาอีก” นายวิเชียร กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: