นายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท.5) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง อพท.ได้ส่งแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ 2 แห่ง มีเทศบาลตำบลเชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย และตำบลในเมือง อ.เมืองน่าน จ.น่าน เพื่อเข้าชิงรางวัล Sustainable Destinations Top 100 หรือ Top100 ซึ่งเป็นการชี้วัดแหล่งท่องเที่ยว ที่แสดงถึงความสำเร็จจากผลการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน และหลังจากนี้ ทาง อพท.5 นั้น อยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผนแม่บทการพัฒนาปี 2563-2570 ซึ่งต่อยอดจากแผนแม่บทเดิมที่ครบกำหนดรูปแบบการดำเนินงานยังคงเน้นรูปแบบประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาจังหวัดเลยให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม จังหวัดเลยมีเป้าหมายที่จะเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่เชียงคานและภูกระดึง ดังนั้น อพท. 5 จะเข้าไปพัฒนาส่งเสริมชุมชนต่างๆเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ชุมชนเหล่านั้นมีความเข้มแข็ง เป้าหมายคือพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนสร้างเป็นโครงข่ายเชื่องโยงระหว่างกันใน 15 ชุมชนเป้าหมาย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาให้เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐาน CBT Thailand และยกระดับขึ้นเป็นชุมชนต้นแบบ
สำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมและวิถีที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวมี9 ชุมชนรอบสกายวอร์ค สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เช่น ชุมชนบ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นชุมชนของชาวไทพวนที่อพยพมาจากเมืองพวนทางตอนเหนือของประเทศลาว ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมการละเล่น และชุมชนบ้านคกงิ้ว ซึ่ง อพท.ได้เข้าไปส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนแหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา น้อมนำมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตทั้งด้านการเพาะปลูก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประจำชุมชน จัดตั้งเป็นศูนย์ชุมชนคกงิ้ว และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่สามารถรองรับการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีชุมชนอื่นๆที่ยังมีอัตลักษณ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าใช้บริการด้านการท่องเที่ยว ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นทั้งวิถีริมโขง วิถีทางวัฒนธรรม วิถีเกษตร เป็นต้น
แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอื่นๆ ได้แก่ ชุมชนบ้านนาป่าหนาดเป็นคนเชื้อสายไทดำ หรือ ชาวไทดำกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากจังหวัดเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนามเมื่อสมัยเกิดสงครามฝรั่งเศสเวียดนาม ที่เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่จะเข้ามาเพิ่มเติมสีสันให้แก่อำเภอเชียงคาน เพราะมีการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะการจัดทำโคมไฟที่ดัดแปลงมาจากตุ้มหนู (กรง) และ ตุ้มนก (กรง) ใช้เป็นเครื่องลางแสดงถึงความโชคดีของชุมชนที่แขวนไว้หน้าบ้านทุกหลัง ความเข้มแข็งของวัฒนธรรมของชุมชนแห่งนี้จึงพัฒนาให้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยว“ถนนคนเดิน” ในยามค่ำคืน มีการนำอาหารประจำถิ่นมาจำหน่าย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อชิมสัมผัสรสชาติ ซึ่งหลังจากเปิดทดลองให้บริการที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากทำให้ชุมชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การร่ายรำประจำถิ่น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และ ซึมซับทางวัฒนธรรมสามารถรักษาสืบต่อไป
ส่วนพื้นที่สกายวอล์ค อพท.นั้น เตรียมนำระบบ E-Ticket (อี-ทิคเก็ต) เข้ามาบริหารจัดการการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับการท่องเที่ยวในยุค New Normal ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งทุกพื้นที่ได้มีการวางระบบเพื่อความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว
สำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังอยู่ในแผนที่ อพท. กำลังพัฒนาแผนการตลาดการสร้างเส้นเชื่อมโยงไปยังประเทศลาว ซึ่งเป็นเส้นทางการท่องเที่ยววัฒนธรรมลานช้าง ดังนั้นการที่เชียงคานได้รับการจัดอันดับ Top 100 จะช่วยสร้างกระแสการรับรู้ให้กับตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้จัดงาน ITB กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี จะนำสถานท่องเที่ยวยั่งยืนที่ผ่านการคัดเลือกขึ้นบนเว็บไซต์เพื่อแนะนำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ได้มาตรฐานระดับโลก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: