ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 จากสถานการณ์ ชาวบ้านตำบลภูกระดึง และตำบลห้วยส้ม อ.ภูกระดึง จ.เลย ใน 11 หมู่บ้าน ต่างได้รับผลกระทบกับช้างป่า ได้ออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ที่แตกโขลงมาสร้างโขลงใหม่มาอาศัยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อภูกระแต และมีมากกว่า 30 ตัว ในเวลากลางคืนช้างป่าได้ออกมาหากิน และได้สร้างความเสียหาย กัดกินพืชไร่ รวมทั้งทำลายข้าวของเสียหายจำนวนมาก บางคืนช้างป่ายังออกมาได้หากินในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านต่างหวาดผวา ในขณะความเสียหายของพืชไร่ และข้าวของชาวบ้านไม่สามารถเรียกร้องจากหน่วยงานไหนได้ หน่วยงานราชการได้แต่เพียงพยายามผลักดันออกจากพื้นที่
โดยล่าสุดนายกองแพง ดาปะ ชาวบ้าน บ้านห้วยไผ่ หมู่ 10 ต.ห้วยส้ม อ.ภูกระดึง เผยว่า ในขณะนี้ชาวบ้านต่างผวากับช้างป่า ที่ลงมากินพืชไร่ที่ปลูกไว้ไม่เว้นแต่ละวัน อย่างเมื่อคืนที่ผ่านมา มีช้างป่าเข้ามาบริเวณไร่ของตน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7 ตัว และได้แยกโขลงออกมามีช้างป่า 2 แม่ลูก เข้ามาในไร่ของตนเข้ากันกินกล้วย มันสัมปะหลัง และพืชไร่อื่นๆเสียหายเกือบหมดไร่ รวมทั้งไร่เพื่อนบ้านต่างก็เสียหายพอๆ กัน ซึ่งทุกวันชาวบ้านเองต่างผวาและกลัวมาก บางวันปรากฏตัวให้เห็นกลางวัน ออกมาหากิน จนชาวบ้านไม่กล้าออกไปทำไร่ทำสวนกัน อยากจะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ลงมาให้ความช่วยเหลือ มีมาตรการใดๆ ออกมาจะให้ชาวบ้านช่วยยังไง วันนี้ชาวบ้านต่างเดือดร้อนมากกับปัญหาช้างป่า ซึ่งมีเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน
ข่าวน่าสนใจ:
ด้านนายภูริวัจน์ โชตินพรัตน์ นายอำเภอภูกระดึง เผยว่า วันนี้ปัญหาช้างป่าที่มาอาศัยพื้นที่อำเภอภูกระดึง มาจากช้างที่แตกโขลง โดยที่อยู่ในพื้นที่มีอยู่ประมาณ 30 กว่าตัว และในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนมีฝนตกลงมาเกือบทุกวัน ทำให้ช้างบางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อภูกระแต แต่ที่เป็นปัญหาของพื้นที่ขณะนี้คือช้างได้แตกโขลงออกมา อย่างบ้านนาแปน มีช้างหนุ่มออกมาสร้างโขลงใหม่จำนวน 2 ตัว และในตำบลห้วยส้มมีอยู่ประมาณ 7 ตัว และแยกโขลงเข้าแต่ละหมู่บ้าน 2 ตัวบ้าง 4 ตัวบ้าง ในขณะนี้เราได้แบ่งเจ้าหน้าที่ดูแลและติดตามช้างป่าออกเป็น 2 ชุด และช่วงประมาณ 5-6 โมงเย็น ดักดูช้างออกมาจากป่าและพร้อมไล่ผลักดันเข้าป่าไปให้อยู่ในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เข้าไปรบกวนพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน แต่ช้างป่าเขาก็เล็ดลอดสายตาเจ้าหน้าที่ออกมาสร้างความเสียหายให้ชาวบ้าน และเนื่องจากว่าชาวบ้านมักจะมีอาหารไว้ตามเถียงไร่เถียงนา เมื่อช้างได้กลิ่นอาหารและติดรสชาติพวกข้าวสาร ข้าวเปลือก ซึ่งเป็นอาหารที่ชื่นชอบ รวมทั้งพืชไร่ทั้งกล้วย มันสัมปะหลัง จึงได้สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้าน
แต่ในด้านความช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นชาวบ้าน โดยระเบียบราชการต้องเป็นเกษตรกรที่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรก่อน ถึงจะเรียกร้องความเสียหายจากรัฐได้ แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านทำไร่ทำสวนในพื้นที่ตนเอง ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร จึงไม่สามารถเรียกร้องความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการใดๆได้ แม้ทางอำเภอประกาศปัญหาช้างป่ารุกพื้นที่เป็นภัยพิบัติ เพื่อให้การช่วยเหลือ แต่ระเบียบไม่มีความคล่องตัว เพราะว่าภัยพิบัติของประเทศไทยใช้กับสาธารณภัยทั่วไป แต่พอถึงเรื่องช้างไม่มีเหตุต่อเนื่อง และความเสียหายยากที่ประเมินเนื่องจากกัดกินไม่หมด ยังคงเหลือให้ดูต่างหน้า โดยไม่ได้เสียหายโดยสิ้นเชิง ช้างกัดกินทำลายแล้วก็ไป แม้ประกาศเป็นภัยพิบัติ ก็ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่เต็มที่ แต่หลายๆ หน่วยงานก็พยายามหาช่องทางที่ช่วยเหลือชาวบ้านเหล่านี้อยู่ ทุกวันนี้ได้เพียงแต่เร่งผลักดันให้ออกจากพื้นที่ได้เท่านั้น นายภูริวัจน์ นายอำเภอภูกระดึง กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: