พังงา-ตะลึง…ขยะทะเลเกยตื้นหาดท้ายเหมืองปีละกว่า11 ตัน จิตอาสาพังงารวมพลังช่วยกันเก็บ
นายมงคล ลิ่ววิริยกุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา ร่วมกับ กลุ่มอาสาสมัครกลุ่มทรัสฮีโร่เขาหลัก วิทยาลัยชุมชนพังงา บ.เขาหลักสคูบ้าแอดเวนเจอร์ บ.เขาหลักแลนด์ดิสคอฟเวอรี่ กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนท่าดินแดง และสำนักงาน ส.บ.ท.ช.8 กว่า 100 คน ร่วมเก็บขยะบริเวณชายหาดเขาหน้ายักษ์ อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ภายใต้ชื่อโครงการ “ร่วมพิทักษ์ รักษ์หาด ปี2” เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนที่มีใจรักชายหาดและทะเลได้ร่วมมือร่วมแรงกันในการรักษาความสะอาดของชายหาดและทะเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้ชุมชน เพื่อให้เกิดวิสัยทัศน์อันดีแก่นักท่องเที่ยว โดยสามารถเก็บขยะได้น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 547.6 กิโลกรัม เป็นขยะทั่วไป 394.2 กิโลกรัม ขยะรีไซเคิล 145 กิโลกรัม และขยะอันตราย 8.4 กิโลกรัม ก่อนจะส่งมอบขยะรีไซเคิล(รองเท้า)ให้กับกลุ่มทรัชฮีโร่นำไปผลิตเป็นรองเท้าแตะเพื่อจำหน่ายนำรายได้กลับมาซื้ออุปกรณ์ในการดำเนินกิจกรรมเก็บขยะอย่างต่อเนื่อง
นายมงคล ลิ่ววิริยกุล เปิดเผยว่า หาดท้ายเหมืองมีความยาวประมาณ 13.6 กิโลเมตร ในช่วงฤดูมรสุมจะมีขยะจากทะเลลอยมาติดบริเวณชายหาดเป็นจำนวนมาก ในอดีตชายหาดแห่งนี้จะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ทุกปี แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่าเต่าไม่กลับวางไข่อีกเลย กิจกรรมในวันนี้เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนที่มีใจรักชายหาดและทะเลได้ร่วมมือร่วมแรงกันในการรักษาความสะอาดของชายหาดและทะเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้ชุมชน รวมถึงเป็นการทำให้ชายหาดสะอาด รอรับให้เต่ากลับขึ้นมาวางไข่ได้อย่างสะดวก โครงการ “ร่วมพิทักษ์ รักษ์หาด” โดยพบว่าในปีแรกอุทยานฯร่วมกับจิตอาสาสามารถเก็บขยะมากกว่า 11 ตัน ส่วนปีนี้เป็นปีที่ 2 สามารถเก็บขยะได้แล้วประมาณ 1,000 กิโลกรัม
นายภควัต วิญญูกุล อาสาสมัครกลุ่มทรัชฮีโร่เขาหลัก กล่าวว่า กลุ่มทรัชฮีโร่เขาหลักเป็นกลุ่มอาสาสมัคร 100% มีบริษัทเขาหลักสคูบ้าแอดเวนเจอร์ เป็นสปอนเซอร์หลักในการซื้ออุปกรณ์เก็บขยะรวมถึงขนส่งอาสาสมัครไปยังชายหาดหรือพื้นที่ต่างๆ ทุกวันเสาร์ หรือ วันอาทิตย์ เพื่อทำกิจกรรมเก็บขยะ ซึ่งพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขยะมากอันดับ 6 ของโลก ในส่วนของประเทศไทยมีขยะมากถึง 2ล้านตัน และมีเพียง 0.5ล้านตัน ที่นำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนัก ซึ่งพบว่าในปัจจุบันว่าผู้ประดิษฐ์ได้ทำการคิดค้นให้ถุงพลาสติกมีอายุยาวนานถึง 450 ปี หลอดพลาสติกมีอายุ 80 ปี จึงจะสามารถย่อยสลายได้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อย่อยสลายแล้วก็ยังไม่หมดยังกลายเป็นไมโครพลาสติกซึ่งกระทบกับห่วงโซ่อาหาร ประกอบกับจังหวัดพังงาเป็นจังหวัดที่หากินกับการท่องเที่ยวทางทะเล มีขยะเกยตื้นทุกวันจึงเป็นสาเหตุให้เหล่าจิตอาสารวมตัวกันทำกิจกรรมเก็บขยะ ซึ่งวันนี้ก็รู้สึกดีใจที่มีผู้คนเป็นจำนวนมากเดินทางมาร่วมกันทำกิจกรรม และตระหนักรู้ถึงการร่วมกันรักษาธรรมชาติ ซึ่งหากใครไม่สามารถมาร่วมทำกิจรรมได้ก็เพียงเริ่มต้นได้ในทุกๆวันด้วยการลดใช้ถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงผ้าและวัสดุที่สามารถใช้ซ้ำได้
นางสาวปัทมา ศรีกิมแก้ว กล่าวเพิ่มเติมว่า ขยะที่ทุกคนทิ้งเมื่อเวลาผ่านไปก็จะย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติก เมื่อแพลงตอนกินไม่โครพลาสติก สัตว์ทะเลก็จะกินแพลงตอน ก่อนที่เราจะกินสัตว์ทะเล ซึ่งจะเป็นห่วงโซ่อาหารทำให้ผลกระทบดังกล่าวกลับมาหามนุษย์ แต่บางครั้งก่อนที่จะถึงมนุษย์ สัตว์ทะเลบางชนิดเมื่อกินเข้าไปแล้วตายเช่นกัน จึงอยากรณรงค์เรื่องการใช้ถุงพลาสติกว่า หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงที่จะใช้ หรือหากมีถุงพลาสติกก็พยายามใช้ซ้ำๆ ให้มีจำนวนครั้งมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หากไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ เมื่อพบเห็นขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อยเราก็ช่วยกันเก็บก็จะสามารถลดปริมาณขยะลงได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: