X

ฝ่าวิกฤติสู้โควิด-19 เกษตรกรรวมกลุ่มปลูกเห็ดฟางบนทลายปาล์ม ส่งขายห้างดังที่ภูเก็ตวันละกว่าครึ่งตัน

พังงา-ฝ่าวิกฤติสู้โควิด-19 เกษตรกรรวมกลุ่มปลูกเห็ดฟางบนทลายปาล์ม ส่งขายห้างดังที่ภูเก็ตวันละกว่าครึ่งตัน

นางวิภาดา ทิพญพงศ์ธาดา ประธานแม่บ้านมหาดไทยพังงา พร้อมด้วยนางสาวธันย์บดี หนูเงิน หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาพังงา เข้าเยี่ยมชมกลุ่ม สกต.พังงา จำกัด ตำบลโคกเจริญ หมู่ที่ 6 บ้านตลิ่งชัน ตำบลโคกเจริญ อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา โดยมีนายหาบ คมขำ ประธานกลุ่มฯ พร้อมสมาชิกฯ นำเยี่ยมชมการเพาะเห็ดฟางบนทะลายปาล์ม การเลี้ยงแพะขุนและวัวขุน ซึ่ง ได้รับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาอาชีพจากกองทุนฟื้นฟูฯพังงา ซึ่งทางแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพังงาต้องการดูเพื่อเป็นต้นแบบในการสนับสนุนให้ประชาชนใช้พื้นที่ว่างรอบบ้านให้เกิดประโยชน์ สู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยได้เข้าชมโรงเรือนเพาะเห็ดฟางบนทะลายปาล์มแบบปิด ที่ใช้ไอน้ำอบฆ่าเชื้อราทะลายปาล์ม และการควบคุมอุณหภูมิห้องเพาะเห็ดให้คงที่ได้ดีกว่า ซึ่งจะให้ผลผลิตที่มากกว่า ในขณะที่อีกแปลงได้ทำการเพาะเห็ดบนพื้นดินใต้ร่มสวนปาล์ม โดยใช้เพียงผ้ายางคลุมกองทะลายปาล์มเพื่อรักษาอุณหภูมิไว้เท่านั้น แต่ก็มีสูตรเด็ดในการทำน้ำหมักชีวภาพแบบง่าย ๆ ใช้รดกองทะลายปาล์ม ทำให้ได้ผลเห็ดดอกโต งอกงามออกดอกจำนวนมาก ในส่วนของการเลี้ยงแพะและวัวนั้น ทางกลุ่มได้มีการซื้อวัวและแพะมาขุนให้อ้วนและขายต่อ ซึ่งก็ทำรายได้ให้กับกลุ่มได้อย่างงดงามเช่นกัน

นายหาบ คมขำ ประธานกลุ่มฯ กล่าวว่า กลุ่มฯ มีสมาชิกทั้งหมด กว่า 200 คน แต่ที่ทำกิจกรรมร่วมกันมี ประมาณ 20 คน   ในการเพาะเห็ดฟางบนทะลายปาล์มนั้น ไม่ยาก ลงทุนน้อย และรายได้ดี โดยตนได้ชักชวนให้เพื่อนสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19กันทุกครอบครัวหันมาร่วมกันเพาะเห็ด เพราะได้ลองทำและได้ผลดี โดยตนเองจะเป็นผู้ลงทุนให้ และเป็นผู้รับซื้อผลผลิตทั้งหมด โดยจัดส่งขายให้กับห้างซุปเปอร์ชิปที่ภูเก็ตทุกวัน ๆ ละ 500 – 700 กิโลกรัม โดยเห็ดจะเก็บได้ทุกวัน หลังจากเพาะเชื้อไว้ประมาณ 7 วันและเริ่มงอก รอบหนึ่งจะสามารถเก็บได้ประมาณ 15 – 20 วัน หรืออาจมากกว่านั้นถ้าคุณภาพในการดูแลดี

สำหรับต้นทุนในการผลิตครั้งแรก คือ ซื้อทะลายปาล์ม 1 คันรถ ประมาณ 8 ตัน ราคา 3,500 บาท,  ค่าเชื้อเห็ด ราคา 960 บาท,   ค่าอาหารเสริมราคา 150 บาท,   ค่าผ้ายางสำหรับคลุม 1,100 บาท,   ค่าไม้ไผ่ทำโครงสำหรับคลุมผ้ายาง ราคา 486 บาท รวมต้นทุน ราคา 6,196 บาท ส่วนการรับซื้อเห็ดจากแปลงแบ่งเป็น 3 ชนิดคือ ขนาดจัมโบ้ ขนาดเล็ก และดอกบาน ซึ่งใน 1 รอบของการเพาะโดยใช้ทะลายปาล์มเพียง 1 คันรถ จะได้กำไรประมาณ 8,000 – 10,000 บาท แล้วแต่การใส่ใจดูแลและการเก็บผลผลิตต่อเนื่องไม่เกินเวลา

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of อโนทัย งานดี

อโนทัย งานดี

นักข่าวตัวเล็กๆในเมืองแห่งความสุข