พังงา- รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดการอบรมหลักสูตรการลำเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ สนับสนุนการแพทย์ฉุกเฉินด้วยอากาศยาน
วันที่ 25 เมษายน 2565 ที่ห้องประชุม โรงแรมเขาหลักลากูน่ารีสอร์ท ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไสรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมหลักสูตรการลำเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ ขั้นพื้นฐาน ( Basic Helcopter Energency Medica Senvices Course:Basic HEMS รุ่นที่ 2 โดยมีนายแพทย์มนู ศุกลสกุล สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 11 เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ เพมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 11 และ 12 ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการอบรม ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ (Paramedic) จากโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 และเขตสุขภาพที่ 12 รวมทั้งสิ้นจำนวน 40 คน ในการทางนายแพทย์วิทยา วัฒนเรืองโกวิท นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงาได้กล่าวต้อนรับพร้อมกล่าวขอบคุณที่เลือกจังหวัดพังงาเป็นพื้นที่ฝึกอบรม
นายแพทย์มนู ศุกลสกุล สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้จัดขึ้นโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยแบ่งการฝึกอบรมเป็นภาคทฤษฎี ใช้การสอนแบบบรรยาย และ การสอนแบบ Case Base-Learning จัดในระหว่างวันที่ 25 เมษายน ถึงวันที่ 28 เมษายน 2565 ที่ ห้องประชุมโรงแรมเขาหลักลากูน่า รีสอร์ท และภาคปฏิบัติ ใช้การสอนแบบสาธิตการฝึกปฏิบัติแบบจำลองเสมือนจริง และการฝึกปฏิบัติในสนามฝึก ที่ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่3 ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ในวันที่ 29 เมษายน 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะและความสามารถ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยอากาศยานอย่างถูกต้อง สามารถบูรณาการองค์ความรู้ทักษะ และความสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยอากาศยานได้ พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยอากาศยานต่อไป
นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไสรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการช่วยเหลือผู้ป่วยเวลาที่ต้องส่งต่อไป ในกรณีที่การรักษาในโรงพยาบาลบางพื้นที่ไม่สามารถทำได้ จะมีบางกรณีที่ต้องการความเร็วในการส่งต่อ ในหลายๆโรคจะมีช่วงเวลาที่ใช้คำว่าเวลาทอง ถ้าเราส่งได้เร็วโอกาสรอดชีวิต โอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนก็จะลดลงฉะนั้นการส่งโดยอากาศยานจึงมีความจำเป็นในบางกรณี ซึ่งตัวอากาศยานเองก็มีการประสานความร่วมมือกับทางกองทัพบก กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงภาคเอกชน ให้สามารถที่จะจัดระบบให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเข้าถึงบริการได้
ทั้งนี้ นายแพทย์วิทยา วัฒนเรืองโกวิท นพ.สสจ.พังงา กล่าวว่าการอบรมครั้งนี้จะทำให้จังหวัดพังงาอยู่ในกระแส Andaman Wellness Corridor (AWC) หรือ ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคใต้ฝั่งอันดามัน ที่มุ่งหวังจะยกระดับและส่งเสริมเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สปา โรงพยาบาล หรือกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั้งหมด รวมไปถึงการพัฒนาตั้งแต่บุคคลากร โดยมีเป้าหมายกลายเป็น Wellness hub ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: