X

หนึ่งเดียวในโลก พลับพลึงธาร ราชินีแห่งสายน้ำ ชูช่อดอกบานสะพรั่งที่คุระบุรี ชวนร่วมกันอนุรักษ์หวั่นสูญพันธุ์

พังงา-หนึ่งเดียวในโลก พลับพลึงธาร ราชินีแห่งสายน้ำ ชูช่อดอกบานสะพรั่งที่คุระบุรี ชวนร่วมกันอนุรักษ์หวั่นสูญพันธุ์

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่จุดชมพลับพลึงธารสวนตาเลื่อน บ้านบางซอย ม.7 ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา มูลนิธิอีสต์ฟอรั่ม ร่วมกับ กองทุนสิ่งแวดล้อม และเครือข่าย จัดกิจกรรมวันอนุรักษ์พลับพลึงธาร ประจำปี 2566 โดยมีนายวิชญุตม์ ทองแป้น นายอำเภอคุระบุรี เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย คุณตาเลื่อน มีแสง ผู้แทนกองทุนสิ่งแวดล้อม ผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด(ทสจ.)พังงา,ระนอง อุทยานแห่งชาติศรีพังงา ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้แทนหอการค้าจังหวัดพังงา องค์กรเครือข่าย คณะครู-นักเรียน และชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียงเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยกิจกรรมภายในงาน มีการมอบรางวัลการประกวดวาดภาพดอกพลับพลึงธาร กิจกรรมชื่นชมดอกพลับพลึงธารที่กำลังชูช่อดอกบานสะพรั่งในลำคลอง  ร่วมกิจกรรมฐานการเรียนรู้การเพาะปลูกพลับพลึงธาร การหว่านเมล็ดพลับพลึงธาร การวาดภาพระบายสีบนกระเป๋าผ้า ร่วมชมนิทรรศการจากองค์กรภาคีเครือข่าย ร่วมชิมอาหารพื้นเมือง สินค้าโอทอป และดนตรีโฟล์คซอง และการเสวนาเรื่องการร่วมอนุรักษ์พลับพลึงธาร

นายวิชญุตม์ ทองแป้น ได้กล่าวเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวมาสัมผัสกับพลับพลึงธาร เจ้าของฉายา “ราชินีแห่งสายน้ำ”พื้นประจำถิ่นที่มีแหล่งเดียวในโลกในจังหวัดพังงาและจังหวัดระนอง โดนเฉพาะในอำเภอคุระบุรีในช่วงนี้ดอกพลับพลึงธารกำลังชูช่อบานสะพรั่งตามลำคลองต่างๆ ที่สามารถมาเที่ยวชมได้หลายจุด บอกได้ว่าอำเภอคุระบุรีนอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามอย่างหมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์แล้ว ยังที พลับพลึงธาร ราชินีแห่งสายน้ำหนึ่งเดียวในโลกอีกด้วย

นางสาวศจี กองสุวรรณ ผจก.โครงการพัฒนาระบบนิเวศเชิงเกษตรถิ่นที่อยู่อาศัยพลับพลึงธาร  มูลนิธิอีสต์ ฟอรั่ม  เปิดเผยว่า  ดอกพลับพลึงธาร ราชินีแห่งสายน้ำ ซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไปในลำธารใสไหลเย็นเฉพาะในอำเภอกะเปอร์ สุขสำราญ จังหวัดระนอง และอำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง จังหวัดพังงา คนท้องถิ่นเรียก “หญ้าช้อง” “ช้องนางคลี่” “หอมน้ำ”  ปี 2514 นักวิทยาศาสตร์เยอรมันชื่อ โจอาซิม ชูลซ์ เป็นผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชชนิดนี้ว่า Crinum thaiunum หลังจากเข้ามาสำรวจและเก็บตัวอย่างที่จังหวัดพังงาและตีพิมพ์เผยแพร่ ปัจจุบันนิยมเรียกว่าพลับพลึงธาร เนื่องจากมีดอกคล้ายพลับพลึงแต่ขึ้นอยู่ในน้ำ ความสวยงามของดอกพลับพลึงธารได้รับการเล่าขานจนเกิดกิจกรรมล่องแพแลพลับพลึงธารในคลองนาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง นำมาซึ่งความปิติยินดีของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนและสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น

แต่อนิจจาความงามของพลับพลึงธารทำให้มีการขุดหัวไปขายต่างประเทศ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ขุดลอกคลองทำให้เกิดการกัดเซาะคลองแหล่งที่อยู่อาศัยรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเข้มข้น ทำให้ปริมาณพลับพลึงธารเหลือน้อยลงแต่ปัจจุบันพลับพลึงธารเหลืออยู่น้อยมาก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2554 สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จัดสถานภาพพลับพลึงธารใกล้สูญพันธ์ (Endangered) ใน Thailand Red List (Plant) กล่าวคือหากไม่ทำอะไรเลยเลยพลับพลึงธารอาจสูญพันธุ์ภายใน 20 ปี ทางกองทุนสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้มูลนิธิอีสต์ ฟอรั่มร่วมกับองค์กรเครือข่าย ได้กำหนดให้ทุกวันที่14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันอนุรักษ์พลับพลึงธาร”ซึ่งได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูพลับพลึงธารฯ ระหว่างปี 2560-ถึงปัจจุบัน โดยเริ่มจากเผยแพร่สื่อรณรงค์สร้างความตระหนักและฝึกอบรมปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่คนในท้องถิ่น การสำรวจและติดตามการเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อยู่อาศัยพลับพลึงธาร การปลูกฟื้นฟูและปรับปรุงระบบนิเวศของถิ่นที่อยู่อาศัยพลับพลึงธาร

จนได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนประชากรพลับพลึงธารและปรับปรุงระบบนิเวศแหล่งที่อยู่อาศัย ระหว่างปี 2560-ปัจจุบัน จำนวนประมาณ 50,000 ต้น  มีอัตราการรอดในปี 2565 ประมาณ 60-90% นอกจากนี้ยังได้ชุดความรู้การฟื้นฟูพลับพลึงธารในถิ่นที่อยู่อาศัยสภาพธรรมชาติอย่างเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมวันนี้ถึงแม้พลับพลึงธารจะยังไม่ฟื้นฟูจนมีความอุดมสมบูรณ์เท่าเดิม แต่การทำงานที่เข้มแข็งของเครือข่ายบวกกับชุดประสบการณ์ในการปลูกฟื้นฟู ทำให้เชื่อว่าพลับพลึงธารจะไม่สูญพันธุ์และวันหนึ่งข้างหน้าจะสามารถฟื้นฟูจำนวนประชากรให้พลับพลึงธารกลับมาเบ่งบานคลองเล็กคลองน้อยในระนองและพังงาได้อีกครั้ง จึงอยากให้ทุกคนมาเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้งในชีวิต

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of อโนทัย งานดี

อโนทัย งานดี

นักข่าวตัวเล็กๆในเมืองแห่งความสุข