พังงา-ชาวบ้านร้องตรวจสอบจุดเช็กอินสวิสเซอร์แลนด์เหมืองหินเก่าถ้ำทองหลางหลังถูกประกาศปิด ทำเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.จังหวัดภูเก็ต พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำคณะลงพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบเรื่องการประกาศปิดจุดเช็กอินเหมืองหินเก่าถ้ำทองหลาง ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นสวิสเซอร์แลนด์เมืองไทย อยู่ในพื้นที่บ้านถ้ำทองหลาง อ.ทับปุด จ.พังงา ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากสื่อโซเชียล เมื่อปี 2566 ที่มาถ่ายรูปบึงน้ำขนาดใหญ่อยู่ริมภูเขาเป็นแนวยาว มีร่องรอยการทำเหมืองหินมาก่อน มีผืนน้ำเป็นสีฟ้า วิวด้านหนึ่งเป็นภูเขาสูง อีกด้านหนึ่งเป็นป่าสนที่เรียงรายเป็นแถวอย่างสวยงาม เมื่อถ่ายรูปแล้วได้ฟิลธรรมชาติคล้ายในประเทศสวิสเซอร์แลนด์จริงๆ โดยเฉพาะการถ่ายภาพมุมสูงด้วยโดรน ทำให้กลายเป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ของอำเภอทับปุดและจังหวัดพังงา แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก สร้างรายให้กับประชาชนในพื้นที่และกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดพังงา แต่เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม ได้มีการติดป้ายประกาศห้ามเข้าของเอกชนเจ้าของพื้นที่ทางเข้า และจังหวัดพังงามีมติให้ปิดการท่องเที่ยวชั่วคราว โดยมีการป้ายไวนิลขนาดใหญ่ติดว่า “เขตอันตรายห้ามเข้า” “สถานที่นี้เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ห้ามบุคคลภายนอกเข้า ผู้ฝ่าฝืนมีโทษความผิดฐานบุกรุก” เมื่อเดินเข้าไปถึงป่าสนริมบึงน้ำพบป้ายไวนิลข้อความว่า “ประกาศห้ามเข้าพื้นที่เป็นการชั่วคราว” โดยในวันนี้ทางกลุ่มรักบ้านเกิด ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนให้ทางพรรคก้าวไกล และคณะกรรมาธิการฯ ให้เข้ามาตรวจสอบ
นายอมรศักดิ์ หอมจันทร์ ผู้แทนกลุ่มรักบ้านเกิด กล่าวว่า วันนี้ทางกลุ่มรักบ้านเกิดออกมาเพื่อเรียกร้องสิทธิและประโยชน์ของชาวบ้านประชาชน ประเด็นคือการขาดการบริหารจัดการของหน่วยงานรัฐทั้งระดับท้องถิ่น อำเภอและจังหวัด ไม่ลงมาดูแลผลประโยชน์ของประชาชน วันนี้จึงรวมตัวกันเรียกร้องให้มีการให้เปิดพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นที่ท่องเที่ยวเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ แต่วันนี้คำสั่งของผู้ว่าให้ปิดสถานที่แห่งนี้ เพราะขาดการบริหารจัดการ ทางกลุ่มต้องถามกลับไปยังผู้ว่า ว่าวันนี้ท่านได้บริหารจัดการบริหารที่ดีแล้วหรือยัง จะมาโทษประชาชนไม่ได้ เพราะหน่วยงานรัฐจะต้องลงมาดูแลประชาชน ทางกลุ่มขอเรียกร้องให้ทางผู้ว่าตรวจสอบว่าพื้นที่นี้มีการทับซ้อนกับพื้นที่เอกสารสิทธิของนายทุนหรือไม่ และจะต้องหาทางออกเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน หากจะปล่อยไว้อย่างนี้ ประชาชนและพื้นที่ก็จะเสียโอกาสในด้านการท่องเที่ยวทั้งด้านรายได้เลี้ยงชีพและเศรษฐกิจโดยรวม
ด้านนายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล เปิดเผยว่า ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ ที่มีการอ้างถึงการถือครองเอกสารสิทธิ์ที่มีความไม่ชัดเจน โดยชาวบ้านยืนยันว่าเป็นที่พื้นที่สัมปทานเหมืองเก่า และหมดอายุสัมปทานไปแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ป่าไม้ เมื่อมีการอ้างสิทธิ์ครอบครอง ทำให้ภาครัฐไม่สามารถบริหารด้านความปลอดภัย ส่วนป้ายที่ติดประกาศไม่ระบุว่าเป็นของหน่วยงานใด ทางกรรมาธิการฯจึงรับเรื่องเพื่อนำเข้าไปพูดคุยในสภา เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบพื้นที่ให้ชัดเจนด้วยความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย และชาวบ้านได้ร้องเรียนเพิ่มเติมในเรื่องของการขอสัมปทานเหมืองหินแห่งใหม่ในพื้นที่ ที่ชาวบ้านที่เกี่ยวข้องบางกลุ่มไม่ได้มีส่วนร่วม ทางกรรมาธิการฯ จะเข้ามาขอให้มีการทำประชาพิจารณ์เพิ่มเติมให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้นต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: