พังงา – นักท่องเที่ยวเฮ พบวาฬโอมูระโผล่โชว์ตัวข้างเรือ ใกล้หมู่เกาะสิมิลัน
นายเลิศศักดิ์ ปนกลิ่น ผู้จัดการบริษัท ว้าว อันดามัน ทัวร์ เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 24 เม.ย. 62 ที่ผ่านมาขณะที่ นายกิตติพงษ์ พรหมแก้ว ไกด์นำเที่ยว ของบริษัทได้นำนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางจากท่าเรือบ้านทับละมุ มุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อ.คุระบุรี จ.พังงา ขณะเดินทางก่อนจะถึงเดินทางก่อนจะถึง เกาะเมียง หรือเกาะ 4 ได้เจอวาฬขนาดใหญ่
โผล่จากน้ำขึ้นโชว์ตัวข้างเรือนักท่องเที่ยวก่อนจะเข้ามาว่ายเล่นวนเวียนบริเวณ รอบ ๆ เรือ ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปในเรือลำดังกล่าวรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 ของรอบเดือน ที่ ไกด์ของบริษัท ว้าว อันดามัน สามารถบันทึกภาพสัตว์ทะเลหายากเอาไว้ได้ โดยก่อนหน้า สามารถบันทึกภาพวาฬเพชฌฆาตดำ วาฬบรูด้า และโลมาฝูงใหญ่ ในทะเลแถบนี้
นายกิตติพงษ์ พรหมแก้ว เปิดเผยว่า จากที่นักท่องเที่ยวได้พบวาฬขนาดใหญ่ระหว่างเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อ.คุระบุรี ถือเป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างมากเพราะสัตว์ทะเลที่หาอยากออกมาว่ายน้ำแบบนี้หาดูได้อยากมาก ซึ่งช่วงนี้จะพบสัตว์ทะเลหายากเข้ามาหากินในทะเลแถบนี้บ่อยครั้งมาก ทำให้นักท่องเที่ยวที่ได้มาชมความสวยงามของท้องทะเลแล้ว ยังมีโอกาสที่จะพบสัตว์ทะเลหายากได้มากขึ้นอีกด้วย จึงขอเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวรีบตัดสินใจมาท่องเที่ยวก่อนที่จะปิดเกาะกลางเดือนพฤษภาคมนี้
นายรวมสิน มานะจงประเสริฐ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน กล่าวว่า จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่อุทยานฯและ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน พบว่าเป็นวาฬโอมูระ ซึ่งเป็นวาฬหายากอีกชนิดหนึ่ง และช่วงนี้พบว่าในทะเลอันดามัน พบว่ามีสัตว์ทะเลหายาก ออกมาว่ายน้ำให้นักท่องเที่ยวเห็นเป็นจำนวนมากถือว่าท้องทะเลฝั่งอันดามันมีความอุดมสมบูรณ์เพราะในพื้นที่ได้มีการร่วมกันจัดการปัญหาขยะทะเลของทุกภาคส่วน ทำให้มีสัตว์ทะเลหายากเข้ามาหากินอยู่เสมอ
วาฬโอมูระ ( Omura’s whale) เป็นวาฬสายพันธุ์หายากที่มีความใกล้เคียงกับวาฬบรูด้า ถูกค้นพบครั้งแรกจากซากของมันในปี ค.ศ.2003 และเมื่อพิจารณาจากซากแล้วจึงพบว่า มีความต่างจากวาฬบรูด้า คือ วาฬโอมูระนั้นมีขนาดเล็กกว่า ตัวผู้ที่โตเต็มวัยยาวเพียง 10 เมตร ตัวเมียยาวเพียง 11.5 เมตร รอยจีบใต้ลำคอมีจำนวนมากกว่า คือ 80-90 รอยจีบ มีครีบหลังที่สูงกว่า และมีความโค้งน้อยกว่าของวาฬบรูด้า วาฬโอมูระนั้นเป็นวาฬในวงศ์วาฬแกลบที่หายาก และมีผู้คนรู้จักน้อย ชื่อของมันนั้นตั้งตามชื่อของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลชาวญี่ปุ่น นามว่า “ฮิเดโอะ โอมูระ” ซึ่งเป็นผู้ค้นพบวาฬโอมูระ ในปี พ.ศ.2546
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: