X

ศธ.ยกระดับสถานศึกษา Partnership School

นครปฐม : กระทรวงศึกษาธิการ ยกระดับการเรียนการสอน โรงเรียนปลักไม้ลายนครปฐม เข้าคอร์สโรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership School ขับเคลื่อนการปฏิรูป ตามนโยบาย Thailand 4.0

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายมีชัย วีระไวทยะ คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบ Partnership School พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนร่วมพัฒนา นายไพฑูรย์ อรุณศรีประดิษฐ์ ผอ.สพป.นครปฐม เขต 1 นายสนิท แย้มเกสร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership School ณ โรงเรียนวัดปลักไม้ลาย จังหวัดนครปฐม โดยมี นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมให้การต้อนรับ

โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการ  มีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการบริหารจัดการ ร่วมพัฒนา และสนับสนุนสถานศึกษา ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาคุณภาพ และรังสรรค์นวัตกรรมการบริหารจัดการของสถานศึกษา ให้สามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตให้แก่ผู้เรียน อีกทั้งเพื่อให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนในชุมชน

เป็นศูนย์กลางการพัฒนาทักษะ คุณภาพชีวิต และเพื่อให้สถานศึกษาได้รับโอกาสในการพัฒนาอย่างทั่วถึง นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 50 โรงเรียน ผู้สนับสนุน จำนวน 12 หน่วยงาน โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการรุ่นที่ 1 จำนวน 50 โรงเรียน ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษาเป็นวาระสำคัญของการปฏิรูปประเทศ โดยมุ่งหวังจะให้ประสบความสำเร็จ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนการปฏิรูป รองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย Thailand 4.0

สำหรับโรงเรียนวัดปลักไม้ลาย สพป.นครปฐม เขต 1 จัดการเรียนการสอนระดับ อนุบาล 1 ถึง ป.6 โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสยามพรีเสิร์ฟฟู้ดส์ มีนักเรียนรวม 232 คน ซึ่งจุดเด่นของโรงเรียนวัดปลักไม้ลาย คือ ชุมชนในท้องถิ่นและผู้มีอุปการะคุณต่อโรงเรียนให้การสนับสนุน มีวัดเป็นศูนย์รวมในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมประเพณี โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ทำให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งผู้ปกครองเด็กพิเศษมีความเชื่อมั่น โดยส่งเด็กพิเศษเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ชุมชนใกล้เคียงได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษาใกล้เคียง มหาวิทยาลัย องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สถานพยาบาล สถานีตำรวจ วัด ในด้านการระดมทรัพยากร ในรูปแบบของสิ่งของ ปัจจัย แรงงาน ภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างดีเยี่ยม

ขอบคุณ : ข่าว-ภาพ / สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน