นครปฐม : ศาลล้มละลายกลาง สั่งพิทักษ์ทรัพย์ “ไทเทวราช” ยักษ์ใหญ่สัมปทานตลาดธนุบรี (สนามหลวง 2) พ่อค้า-แม่ขาย นับพันระส่ำระสาย ถูกเก็บค่าเช่าล่วงหน้าแรมปี รวมตัวลงชื่อแสดงสิทธิ์ ขอขายต่อรอคำสั่งศาล
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 12 มกราคม 2561 ที่ตลาดธนบุรี (สนามหลวง 2) เลียบคลองทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองบังคับคดีล้มละลาย 3 กรมบังคับคดี พร้อมด้วยกำลังเจ้าที่ตำรวจ และทหาร ร่วมกันนำประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คดีหมายเลขแดงที่ ล.6343/2555 ตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ให้พิทักษ์ทรัพย์ บริษัท ไทเทวราช จำกัด (จำเลย) ในฐานะผู้รับสัมปทาน ตลาดธนบุรี (สนามหลวง 2) พื้นที่ส่วนขยาย เพื่อติดประกาศให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ได้รับทราบ ตามที่เป็นคดีความกัน ระหว่าง บริษัท เด่นศรี 39 จำกัด (โจทย์) และ บริษัท ไทเทวราช จำกัด (จำเลย)
ทำให้บรรดา พ่อค้า-แม่ค้า ที่เช่าพื้นที่ในการเปิดร้านค้าภายในสนามหลวง 2 ส่วนขยาย ร่วม 1,000 คน ออกมารวมตัวกัน เพื่อขอความช่วยเหลือ และประนีประนอม เนื่องจากเกรงว่าจะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ และไม่มีที่ทำมาค้าขาย เนื่องจากต่างพากันประกอบอาชีพค้าขาย อยู่ภายในตลาดสนามหลวง 2 แห่งนี้มาเป็นเวลานาน บางส่วนก็มีสัญญาเช่า บางส่วนก็ไม่มีสัญญาเช่า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าที่ไม่มีสัญญาเช่า ได้ถูก ทาง บริษัท ไทเทวราช จำกัด เก็บเงินล่วงหน้าไปแล้ว รายละ 1-3 แสนบาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เปิดเผยว่า ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บริษัท ไทเทวราช จำกัด (จำเลย) ไว้เด็ดขาด เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 ดังนั้น การจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลย จึงตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว ห้ามมิให้ผู้ใดที่ไม่มีสิทธิ์ใช้พื้นที่ตลาดธนบุรี (สนามหลวง 2) ส่วนขยาย ของบริษัท ไทเทวราช จำกัด จำเลย กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในพื้นที่ดังกล่าว
ส่วนผู้ประกอบการร้านค้า ที่ได้รับความเดือดร้อน ที่ได้ชำระเงินค่าเช่าและทำสัญญาเช่ากับ บริษัท ไทเทวราช จำกัด ไปแล้ว ให้ยื่นคำร้องเพื่อแสดงสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และยื่นขอรับชำระหนี้ ได้ที่กรมบังคับคดี ซึ่งมีกำหนดให้จำเลย ชำระหนี้ในวันที่ 23 มีนาคม 2561 ส่วนผู้ประกอบการร้านค้าที่มีสัญญาเช่า จะร้องปฎิบัติตามสัญญายอม ตามมาตรา 122 ก็ให้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ส่วนแนวทางที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไม่ให้เดือดร้อนต่อไปอย่างไรนั้น จะต้องนำเข้าที่ประชุมเจ้าหนี้ก่อน เมื่อมติออกมาอย่างไรจะต้องรายงานต่อศาล เพื่อให้ศาลกำหนดวิธีการต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: