นครปฐม : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จประทานประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561 แก่เจ้าอาวาสวัด ทั่วประเทศ ณ อาคารหอประชุมพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
วันที่ 14 มีนาคม 2561 เวลา 13.29 น. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จมาเป็นประธานในพิธีประทานประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561 แก่เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในงวดที่ 2 – 5 ประจำปี 2560
ณ อาคารหอประชุมพุทธมณฑล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยมี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครปฐม รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชน เฝ้าถวายสักการะ
สำหรับพิธีประทานประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานวิสุงคามสีมา จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช 2545 โดยพิจารณาเห็นว่าวัดที่ได้รับ พระราชทานวิสุงคามสีมา ต้องเป็นวัดที่มีความมั่นคงถาวร มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎกระทรวง การสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย และการยุบเลิกวัด การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา และการยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา พ.ศ. 2559
ในส่วนของพิธีประทานประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานวิสุงคามสีมาในครั้งนี้ มีวัดต่างๆ จากทั่วประเทศที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ตามที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงและสามารถทำ สังฆกรรมได้ และถือได้ว่าเป็นวัดที่มีความสมบูรณ์ ทั้งด้านพระธรรมวินัย และกฎหมายทุกประการ ประกอบด้วย วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประจำปี 2560 ในงวดที่ 2 จำนวน 75 วัด, งวดที่ 3 จำนวน 45 วัด, งวดที่ 4 จำนวน 85 วัด และงวดที่ 5 จำนวน 55 วัด รวมทั้งสิ้น 269 วัด
วิสุงคามสีมา คือ เขตที่พระราชทานแก่สงฆ์เพื่อใช้เป็นที่สร้างพระอุโบสถ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔) การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมามีวิธีดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งกำหนดไว้ว่า
“วัดที่สมควรได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ต้องปรากฏว่าได้สร้างขึ้นหรือได้ปฏิสังขรณ์เป็นหลักฐานถาวรและมีพระภิกษุอยู่ประจำไม่น้อยกว่าห้ารูปติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ระยะเวลาห้าปี มิให้ใช้บังคับแก่วัดที่ได้สร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้ว”
ทำไมวัดต้องขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา เรื่องนี้เป็นเพราะฐานะของวัดตามกฎหมายนั้น มีสองอย่าง คือ หนึ่งวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา สองสำนักสงฆ์
วัดที่ได้รับวิสุงคามสีมา มีฐานะเป็นนิติบุคคลอย่างสมบูรณ์ สามารถประกอบ สังฆกรรมได้ทุกอย่าง เช่น การบรรพชาอุปสมบท ส่วนสำนักสงฆ์บางแห่งยังไม่ได้สร้างโบสถ์หรือบางแห่งสร้างโบสถ์เสร็จแล้ว แต่ไม่สามารถให้การบรรพชาอุปสมบทได้ เพราะยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
วัดที่จะขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาต้องเสนอรายงานผ่านเจ้าคณะผู้ปกครองตามลำดับ แล้วเสนอสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อจัดทำบัญชีขอรับพระราชทานโปรดเกล้า ฯ
Cr : สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.นครปฐม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: