ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดสกลนคร สรุปอุทกภัย กระทบ 7 อำเภอ ออกมาตรการช่วยเหลือ และเฝ้าระวัง ด้าน ผวจ.สกลนคร แนะประชาชนเช็คข้อมูลให้ดีก่อนแชร์ ควรเฝ้าระวังอย่างถูกต้อง ถูกวิธี และมีสติ
วันที่ 30 ก.ค. 2561 เวลา 12.00 น. ที่ห้องประชุมภูริทัตโต ศาลากลางจังหวัดสกลนคร ได้จัดแถลงข่าวศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดสกลนคร สรุปพื้นที่ประสบ อุทกภัย แนวทางช่วยเหลือ และการเฝ้าระวัง โดยนายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายนพดล ไพฑูรย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายสมชัย คล้ายทับทิม ปจ.สกลนคร พ.อ.ธเนตร จุลโนนยาง รอง ผบ.มทบ.29 นายนิพนธ์ มังกรแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสกลนคร นายทแกล้ว นุศรีวอ ผอ.ศูนย์ ปภ.เขต 7 สกลนคร ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า เราได้บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วมในทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด และออกมาตรการในการให้ความช่วยเหลือราษฎรในด้านต่างๆ ให้ประชาชนติดตามสถานการณ์จากทางภาครัฐ และไม่ควรตื่นตระหนก
ในส่วนของการแชร์ข้อมูลให้ระมัดระวัง เพราะพบว่ามีการแชร์ข้อมูล และภาพเก่าในปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดภาพที่สร้างความหวาดหวั่น และขอความร่วมมือพี่น้องในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค ไม่ควรแชร์ข้อความหรือภาพที่ไม่เป็นความจริง หรือบรรยายเหตุการณ์ที่รุนแรงเกินความเป็นจริง อันจะสร้างความแตกตื่นสู่พี่น้องประชาชน ดังนั้นควรเฝ้าระวังอย่างถูกต้อง ถูกวิธี และมีสติ
ล่าสุดจังหวัดสกลนครได้ประกาศเขตพื้นที่ให้ความช่วยเหลือฯ อุทกภัย 7 อำเภอ ประกอบด้วย อ.คำตากล้า อ.พรรณานิคม อ.เมือง อ.เจริญศิลป์ อ.พังโคน อ.โพนนาแก้ว และ อ.สว่างแดนดิน รวม 22 ตำบล 107 หมู่บ้าน คิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ ราษฎรเดือดร้อน 2,009 ครัวเรือน 5,625 คน นาข้าวคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 13,187 ไร่ เขตเทศบาลนครสกลนคร อยู่ในระดับธงเหลืองเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์
ข่าวน่าสนใจ:
พื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ อยู่ในระดับธงแดง ให้อพยพเคลื่อนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง ระวังภัยและติดตามสถานการณ์ โดยที่บ้านโพนแคใหญ่ ต.นาตงวัฒนา บ้านปู่พึ้ม ต.บ้านโพน อ.โพนนาแก้ว ที่มีน้ำท่วมสูง ซึ่งภาครัฐก็ได้นำความช่วยเหลือสู่ราษฎรแล้ว
นายนิพนธ์ มังกรแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสกลนคร กล่าวว่าแนวโน้มฝนลดลง ความจุอ่างเก็บน้ำที่เกิน 85 เปอร์เซ็นต์ มี 25 อ่าง และอยู่ในเกณฑ์ปกติ การล้นสปิลเวย์ก็เป็นการล้นตามธรรมชาติตามฤดู นอกจากนี้ในการพร่องน้ำ เราจะระบายอย่างเป็นระบบ โดยประสานการทำงานร่วมกันทั้งจังหวัด เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน และเก็บน้ำเพื่อการเกษตร หรือถ้ากระทบก็ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
น้ำสงคราม น้ำยาม น้ำอูน ยังมีระดับต่ำกว่าตลิ่ง ด้านน้ำพุง จะผันผวนตามปริมาณน้ำฝนจากเขาภูพาน ล่าสุดต่ำกว่าตลิ่ง 90 ซม. น่ำก่ำสูงกว่าตลิ่ง 60 ซม. และเอ่อท่วมไร่นาบางส่วน ยังไม่ท่วมบ้านเรือนราษฎร มีการนำเครื่องสูบน้ำลงพื้นที่ ประจำจุดเสี่ยงต่างๆ รวมถึงการเตรียมบิ๊กแบ็คไว้รอรับสถานการณ์หากเกิดฝนตกหนักซ้ำเติมขึ้นในอนาคตพ.อ.ธเนตร จุลโนนยาง รอง ผบ.มทบ. 29 กล่าวว่า ภาพรวม 18 อำเภอ มทบ.29 ค่ายกฤษณ์สีวะรา ได้จัดเตรียมกองกำลังไว้ช่วยเหลือราษฎร 2 กองร้อย รวม 300 นาย รถบรรทุก 8 คัน เครื่องจักร อุปกรณ์ เรือท้องแบน
รวมถึงหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เร็วโดย รพ.ค่ายกฤษณ์สีวะรา มีการตรวจเช็ค ตรวจสภาพ ซักซ้อมแผนเป็นอย่างดี มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็น และได้ออกช่วยประชาชนอย่างต่อเนื่อง หากต้องการกำลังสามารถประสานได้ตลอด 24 ชม.
นายทแกล้ว นุศรีวอ ผอ.ศูนย์ ปภ.เขต 7 สกลนคร กล่าวว่า ศูนย์รับผิดชอบ 3 จังหวัด เราได้เตรียมอุปกรณ์ และกำลังเจ้าหน้าที่พร้อม เรามีเรือท้องแบน 60 ลำ เรือเล็ก 200 ลำ มีเครื่องสูบน้ำหลายขนาด ที่ผ่านมาได้รับการร้องขออุปกรณ์โดยเฉพาะเรือท้องแบนจากอำเภอที่ดีรับผลกระทบ ซึ่งก็ได้จัดสรรให้ มีการนำเครื่องสูบน้ำแรงสูง ลงพื้นที่จุดเสียงต่างๆ เช่น หนองสนม บ่อบำบัด ฯ
ในส่วนของหนองสนม เมื่อค่ำคืนวันที่ 29 ก.ค. ตั้งแต่กลางดึก ถึงเวลา 02.00 น. นายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ได้ลงพื้นที่บัญชาการด้วยตนเอง ล่าสุดหนองสนมกลับสู่ภาวะปกติแล้ว นอกจากนี้ ศูนย์ ปภ. ได้ให้ หน่วยกู้ภัยต่างๆ ยืมเรือท้องแบนสนับสนุนการช่วยเหลืออีก 10 ลำ
ด้าน สสจ.สกลนคร ชี้แจงว่าเราได้เตรียมพร้อมทีมแพทย์ สาธารณสุข เวชภัณฑ์ยาที่จำเป็นกับผู้ประสบภัย อาทิเช่น เซรุ่มพิษงู แมลงสัตว์กัดต่อย ยาเกี่ยวกับโรคผิวหนัง ฯ ในการช่วยเหลือราษฎร โดยเฉพาะโรคที่มากับน้ำ รวมถึงเหตุฉุกเฉิน อุบัติเหตุจากอุทกภัย กำชับไปยังสาธารณสุขอำเภอ ตำบล ที่เป็นพื้นที่ประสบภัย เตรียมพร้อมช่วยประชาชน 24 ชม. และมีการรายงานทุก 8 ชม.
เทศบาลนครสกลนคร เผยว่า หากเกิดฝนตกปกติก็จะไหลออกสู่หนองหารตามธรรมชาติ แต่ปริมาณฝนที่มากกว่าปกติ เราจึงผันน้ำเพื่อบริหารจัดการ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ และถนนให้เร็วขึ้น ขณะที่หนองสนม และบ่อบำบัดน้ำเสีย ใกล้สระพังทอง เราได้รับการสนับสนุนติดเครื่องสูบน้ำจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ศูนย์ ปภ.เขต 7 โดยกระจายเครื่องสูบน้ำตามจุดเสี่ยงต่างๆ ในเขตเทศบาลนครสกลนคร 19 เครื่อง ชลประทานเสริมอีก 4 เครื่อง ร่วมเป็น 23 เครื่อง กำลังการสูบรวมประมาณ 40,000 ลบ.ม./ชม.
หากไม่มีน้ำมาเพิ่ม เขตเศรษฐกิจเทศบาลนครสกลนครจะไม่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้เรายังทำคันดินบริเวณลำห้วยโมง ป้องกันน้ำเอ่อล้น ล่าสุดยังปกติ มีการขุดลอกให้น้ำไหลสะดวก สำหรับน้ำที่คูหมากเสื่อก็ไหลเข้าสู่หนองหารปกติ และเพื่อความไม่ประมาท เราก็ได้เตรียมบิ๊กแบ็คไว้บล็อกน้ำ ในจุดเสี่ยงต่างๆ ไว้พร้อมแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปรียบเทียบสถิติปริมาณ”ฝน”สกลนคร ก.ค.60/ก.ค.61 มม.ต่อ มม.
สกลนคร เฝ้าระวังเข้ม!!หนองหาร-น้ำก่ำ บ้านปู่พึ้ม ถูกตัดขาด ผู้ว่าฯลงพื้นที่ช่วยเหลือ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: