ในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษา อุทยานแห่งชาติภูพาน ครั้งที่ 2/2561 โดยมีนายสมชัย คล้ายทับทิม ปลัดจังหวัดสกลนคร เป็นประธาน นายวิมล อึ้งพรหมบัณฑิต หน.อุทยานแห่งชาติภูพาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ส่งเสริมให้ประชาชนชนร่วม “ทำดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” โดยการรณรงค์ไม่นำพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ เช่น ถุงพลาสติก ขวดที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด หลอดพลาสติก โฟม ฯ ซึ่งย่อยสลายยาก เป็นมลภาวะสิ่งแวดล้อม และยังเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า เพราะบ่อยครั้งที่พบสัตว์ป่ากินถุงพลาสติก ทำให้เจ็บป่วย และเสียชีวิต โดยระยะแรกจะเป็นการขอความร่วมมือ ใช้ถุงผ้า หรือปิ่นโต กล่องข้าว ซึ่งสามารถนำมาล้างใช้ได้อีกแทนถุงพลาสติก เป็นมาตรฐานเดียวกันในอุทยานแห่งชาติทุกแห่งของประเทศ เพื่อรักษาระบบนิเวศภายในป่า รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พร้อมกับการสร้างวินัยให้กับประชาชน ท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในเขตอุทยาน ที่สวยงาม อาทิ ผานางเมิน น้ำตกคำหอม ถ้ำเสรีไทย น้ำตกปรีชาสุขสันต์ น้ำตกห้วยใหญ่ ฯลฯ
นอกจากนี้ทางอุทยานแห่งชาติภูพานยังได้ร่วมกับ บริษัทกรุงไทย พานิชประกันภัยจำกัด(มหาชน) จัดทำประกันอุบัติเหตุนักท่องเที่ยวที่เข้าใช้บริการในพื้นที่อุทยานฯ เสริมสร้างความมั่นใจเมื่อเกิดอุบัติเหตุต่างๆ คนละ 10 บาท ใช้ได้ 1 สัปดาห์ และไม่บังคับ โดยซื้อตามความสมัครใจของนักท่องเที่ยว คุ้มครองทั้งกรณีเกิดอุบัติเหตุ ค่ารักษาครั้งละ 12,000 บาท และเสียชีวิต 300,000 บาท โดยจะเริ่มในเดือน ต.ค. 2561
ด้านมาตรการป้องกันคนหลงป่า นายวิมล อึ้งพรหมบัณทิต หน.อุทยานแห่งชาติภูพาน เปิดเผยว่า ด้วยความกว้างใหญ่ กว่า 415,439 ไร่ หรือ 664.70 ตารางกิโลเมตร ถึงแม้ จนท.จะทำงานอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่สามารถดูแล สำรวจตรวจสอบได้ทั่วถึง และยังพบว่าชาวบ้านที่มาหาของป่าในเขตอุทยานแห่งชาติภูพานมีจำนวนมาก จากหลายจังหวัด
ข่าวน่าสนใจ:
ด้วยป่าภูพานที่ มีความอุดมสมบูรณ์ มีอาหารตามธรรมชาติ เช่น เห็ดต่างๆ หน่อไม้ แมลง ฯ รวมถึงพืชสมุนไพรอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับความยาวของทางเข้าอุทยาน หลายสิบกิโลเมตร จึงดูแลได้ไม่ทั่วถึง
หากจะให้ชาวบ้านมาลงทะเบียนเข้าอุทยาน ตามระบบ ก็จะเข้าเกณฑ์ นักท่องเที่ยว ซึ่งต้องเสียค่าเข้า 20 บาท/คน ดังนั้นอุทยานแห่งชาติภูพาน จะหาข้อสรุปอีกทีเพื่อหามาตรการที่ดีที่สุด ในการป้องกันคนหลงป่า และการจัดระบบคนหาของป่า โดยไม่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ที่ทำมาหากินอยู่กับป่า
ด้านความปลอดภัย จนท.อุทยานฯ จะให้ความรู้ความเข้าใจ จุดไหนอันตรายและควรใช้ความระมัดระวัง การติดป้ายแจ้งเตือน โดยเฉพาะกรณีแหล่งน้ำในป่า ซึ่งอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากได้ ซึ่งอุทยานแห่งชาติภูพาน ได้มีการซ้อมแผนเผชิญเหตุกู้ชีพกู้ภัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังได้แบ่งกำลัง จนท.สับเปลี่ยนหมุนเวียนออกลาดตระเวน สำรวจพื้นที่ โดยการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ Smart Patol
ซึ่งได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ เช่น ระบบ Gps การแท็กจุด กำหนดเป้าหมาย เสมือนจริง และระบบดาวเทียม นำข้อมูลที่ได้ รวบรวมเป็นข้อมูลกลาง โดยมีนายวิมล อึ้งพรหมบัณฑิต หน.อุทยานแห่งชาติภูพาน คอยควบคุมดูแล ซึ่งการลาดตระเวนด้วยระบบดังกล่าว จะช่วยให้รู้ถึงสภาพพื้นที่ และระบุเส้นทางได้อย่างแม่นยำ สามารถนำมาปรับใช้ในภารกิจค้นหา คนหายในเขตอุทยานได้เป็นอย่างดี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: