สถาบันพระบรมราชชนก เปิดหลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยภาวะ หัวใจล้มเหลว รุ่นที่ 1 ที่ จังหวัดสกลนคร เพิ่มการเข้าถึงด้านการบริการสุขภาพสาขาหัวใจของประเทศ
(15 พ.ค. 2566) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดหลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยภาวะ หัวใจล้มเหลว รุ่นที่ 1 ณ หอประชุมภูริทัตโต โรงพยาบาลสกลนคร จังหวัดสกลนคร โดยมี นางสาวจิราพร วรวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ศ.ดร.ศิริอร สินธุ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนคร ผู้เข้าอบรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี
นางสาวจิราพร วรวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี กล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นๆของประเทศไทย และมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาลสูง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างมาก ประกอบกับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมักมีโรคร่วมอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและภาวะไตวาย เป็นต้น จากสภาวะโรคจึงมีความซับซ้อนและความรุนแรงของโรคที่ต้องการการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการพัฒนาวิธีการรักษาพยาบาลโรคหัวใจและหลอดเลือดมาอย่างต่อเนื่องและมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการรักษาเพิ่มมากขึ้น
ทั้งในกระบวนการวินิจฉัย การรักษาและการดูแลในระยะยาว จึงจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะทางในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและทรวงอกอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาชีพพยาบาลซึ่งเป็นผู้ให้การดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องในทุกขั้นตอนตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งต้องมีทักษะการประสานความร่วมมือกับสหสาขาวิชาชีพอื่นเพื่อให้ผลการดูแลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
จากเหตุผลดังกล่าว เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพสาขาหัวใจและหลอดเลือดของประเทศไทย มีการเข้าถึงบริการและเพิ่มความครอบคลุมมากขึ้น กองบริการวิชาการ สถาบันพระบรมราชชนกร่วมกับบุคลากรกรอาจารย์สังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก และพยาบาลวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญสาขาด้านหัวใจ ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาดังกล่าวนี้จนได้หลักสูตรต้นแบบขึ้น
โดยมี ศ.ดร.ศิริอร สินธุ เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำหลักสูตรการเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว และเพื่อให้เกิดการขยายผลด้านวิชาการและวิชาชีพอย่างเป็นรูปธรรม วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนกร่วมกับโรงพยาบาลสกลนคร จึงได้ดำเนินการสานต่อในการขอรับรองและผ่านการรับรองหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางจากสภาการพยาบาลเป็นที่เรียบร้อย จากความเป็นมาดังกล่าวจึงเกิดการจัดการอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวรุ่นที่ 1 ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสมรรถนะของพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ให้สามารถปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวทั้งในภาวะวิกฤติ ฉุกเฉิน เรื้อรังและการฟื้นฟูสภาพอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการการดูแลและป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวของประชาชน รองรับระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาหัวใจ และถือเป็นหลักสูตร Training for Trainer เมื่อจบการอบรมจะต้องวางแผนขยายผลในภูมิภาคที่ปฏิบัติงานต่อไป
กลุ่มเป้าหมาย ในการอบรมครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม รวม 32 คน ดังนี้
กลุ่มที่ 1 อาจารย์พยาบาลจากคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก เพื่อพัฒนาอาจารย์พยาบาลให้มีความเชี่ยวชาญตรงสาขา โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก เป็นเงิน 405,000 บาท จำนวน 9 คน
กลุ่มที่ 2 พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว จากหน่วยบริการที่มีวิทยาลัยตั้งอยู่ เพื่อการขยายผลการจัดหลักสูตรและเป็นอาจารย์พี่เลี้ยงภาคทฤษฎีและปฏิบัติในหลักสูตรนี้ได้ต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณของสถาบันพระบรมราชชนก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี ในกิจกรรม การผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ เป็นเงิน 585,000 บาท จำนวน 13 คน
และ กลุ่มที่ 3 พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 โดยได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณจากเขตสุขภาพที่ 8 เป็นเงิน 450,000 บาท จำนวน 10 คน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ถือเป็นบุคลากรที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงต้องให้มีการพัฒนาความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา ให้สามารถปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งในภาวะวิกฤติ ฉุกเฉิน เรื้อรังและการฟื้นฟูสภาพอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นการตอบสนองแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศและยกระดับคุณภาพการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวให้มีประสิทธิภาพ
โดยเห็นความเชื่อมโยงการทำงานอย่างสอดประสานระหว่าง Academic กับ Service ที่แสดงถึงการรวมพลังทำงานเพื่อประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในประเทศ ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ จะช่วยสร้างเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของพยาบาลในการปฏิบัติการพยาบาลดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว รวมทั้งยังเป็นการสร้างพลังและกำลังใจสำหรับคนทำงานให้มีความรู้ความสามารถ โดยผู้ผ่านการฝึกอบรมจะมีการวางแผนขยายผลการจัดหลักสูตรให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านการบริการสุขภาพสาขาหัวใจของประเทศต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: