X
คณิตศาสตร์

เด็กเก่งสกลนคร ใช้สูตร คณิตศาสตร์ ม.ต้น สร้างงานจักสาน สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

เยาวชนคนเก่งจากโรงเรียนสกลทวาปี อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดทำโครงงาน คณิตศาสตร์ ชื่อ “คู่อันดับและกราฟมหัศจรรย์ สร้างพัดสานจากไม้ไผ่ ออกแบบลวดลายด้วย GSP” ได้รับรางวัลชนะเลิศงานแข่งขันทักษะวิชาการ โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร เหรียญทอง อันดับ 5 ระดับภาค และเหรียญเงิน ระดับประเทศ ประยุกต์สูตรคณิตศาสตร์ สร้างงานจักสาน สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

พัดสานจากไม้ไผ่ ที่มีลวดลายและสีสันสวยงาม  เป็นผลงานที่เกิดจากการนำความรู้ทาง คณิตศาสตร์ เรื่อง คู่อันดับและกราฟ และการแปลงทางเรขาคณิต โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP)  มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบลวดลายของพัดสานจากไม้ไผ่ ผลงานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนสกลทวาปี อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร โดยได้จัดทำโครงงานคณิตศาสตร์ชื่อ “คู่อันดับและกราฟมหัศจรรย์ สร้างพัดสานจากไม้ไผ่ ออกแบบลวดลายด้วย GSP” โดยได้รับรางวัลชนะเลิศงานแข่งขันทักษะวิชาการ โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ปี 2565 เหรียญทอง อันดับ 5 ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเหรียญเงิน ระดับประเทศ

เด็กหญิงจิราพรรณ ชั้นน้อย ปัจจุบันอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดทำโครงงานคณิตศาสตร์ บอกเล่าด้วยความภูมิใจ ที่ได้ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ แปลงสูตร มาสร้างสรรค์งานฝีมือ อย่างงานจักสาน เพื่อสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และที่สำคัญเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นแห่งนี้ด้วย

นางวงเดือน วงษ์รัตนะ ครูที่ปรึกษา การจัดทำโครงงานคณิตศาสตร์ฯ บอกว่า ความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่นำมาประยุกต์ใช้ในงานฝีมืออย่างการจักสานนี้ก็คือ วิธีเขียนคู่อันดับลายสาน ตามแนวแกน X หรือแนวตั้ง และแนวแกน Y หรือแนวนอน มีการกำหนดไว้ว่า ให้เขียนคู่อันดับใด ๆ เฉพาะตำแหน่งที่เส้นตอกแนวตั้งทับเส้นตอกแนวนอนเท่านั้น จึงจะเกิดลาย ส่วนตำแหน่งที่เส้นตอกแนวนอนทับเส้นตอกแนวตั้ง จะไม่เกิดลายที่ต้องการ พร้อมการแปลงทางเรขาคณิต เช่น การหมุน การสะท้อน การเลื่อนขนาน มาออกแบบให้เป็นลวดลายที่สวยงาม มีสีสันโดดเด่น เช่น ลายแก้วตาดวงใจ ลายสี่เหลี่ยมเปี่ยมสุข ลายรุ่งอรุณ และลายสี่ห้องหฤทัย อีกทั้งยังใช้สูตรคณิตศาสตร์ สร้างสรรค์ลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดสกลนคร อย่างพระธาตุเชิงชุม ที่เป็นลายใหม่นี้ด้วย

ในอนาคต พัดที่จักสานด้วยไม้ไผ่ ลวดลายสวยงามของโรงเรียนสกลทวาปี จังหวัดสกลนคร จะมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย เช่น กระเป๋าถือ กระจาด ตะกร้า และอื่น ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้ผลิตภัณฑ์ สร้างงานให้เกิดกับชาวบ้าน ผลพลอยได้คือเด็ก ๆ มีเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์

 

คณิตศาสตร์ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากคณิตศาสตร์ช่วยให้มนุษย์มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ มีแบบแผน สามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือสถานการณ์ได้อย่างรอบคอบและถี่ถ้วน ช่วยให้คาดการณ์ วางแผนการตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การศึกษาคณิตศาสตร์จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์

บ้านโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีการอนุรักษ์สืบสาน  ภูมิปัญญาชาวบ้านได้นำวัสดุจากธรรมชาติมาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนเหลือใช้แล้วยังสามารถส่งขายสร้างเป็นรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว เช่น  การจักตอกไม้ไผ่ขาย  การทำพัดสานจากไม้ไผ่  การสานตะกร้า  กระติบข้าว  เป็นต้น

โดย พัดสาน เป็นของใช้สำหรับโบกเตาไฟของคนไทยในสมัยก่อน หรือใช้สำหรับโบกพัดร่างกายให้หายคลายจากความร้อนได้ สามารถที่จะนำติดตัวไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก วัสดุที่ใช้สานเป็นผลผลิตจากพืชพรรณธรรมชาติในท้องถิ่น คือ ไม้ไผ่ ผู้สานนิยมสานเป็นรูปลักษณะต่างๆ มุ่งเน้นเพื่อประโยชน์การใช้งาน   มีการปรับปรุงพัฒนารูปแบบให้มีความสวยงามประณีต เช่น พัดสานสี่เหลี่ยมเหมาะสำหรับโพกพัดเตาไฟ พัดยกลายดอกสานเป็นลวดลายต่าง ๆ พัดละเอียดรูปใบโพธิ์หรือรูปหัวใจ และรูปตาลปัตร

โรงเรียนสกลทวาปี ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำพัดสานจากไม้ไผ่ที่ต้องอนุรักษ์และสืบสานให้คงไว้ จึงได้ศึกษาค้นคว้าและลงพื้นที่ศึกษาการทำพัดสานจากตอกไม้ไผ่ จากปราชญ์ชาวบ้าน บ้านโนนหอม ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ทำให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น อยากจะเผยแพร่ ถ่ายทอดภูมิปัญญาให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น จึงได้นำความรู้ทางคณิตศาสตร์ เรื่อง คู่อันดับและกราฟ และการแปลงทางเรขาคณิตมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบลวดลายโดยใช้โปรแกรม GSP จากนั้น นำลวดลายที่ออกแบบเสร็จแล้วไปสานเป็นลวดลายของพัดสาน เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์   ที่ทำจากไม้ไผ่ ให้มีลวดลาย สีสันที่โดดเด่น แปลกใหม่ หลากหลาย น่าสนใจมากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าของพัดสานจากไม้ไผ่อีกด้วย

 

ชื่อโครงงาน                คู่อันดับและกราฟมหัศจรรย์  สร้างพัดสานจากไม้ไผ่  ออกแบบลวดลายด้วย  GSP

ประเภทโครงงาน          สิ่งประดิษฐ์

ชื่อคณะผู้จัดทำ                            1. ด.ญ.รุ่งอรุณ   พลวงค์ษา        ชั้น  ม.3/1

2. ด.ญ.กัลยรัตน์  ลือเลื่อง          ชั้น  ม.3/1

3. ด.ญ.จิราพรรณ  ชั้นน้อย          ชั้น  ม.2/2

4. ด.ญ.วิลาศิณี  ถิ่นสืบ               ชั้น  ม.2/2

ครูที่ปรึกษา                                   1. นางวงเดือน  วงษ์รัตนะ          ครู  วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ

2. นางสาววัชรินทร์  มงคลสุภา     ครู คณิตศาสตร์

3. นายจีรเดช  วังมฤค                นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

4. นายกมลรัตน์  ใยวังหน้า          นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

สถานศึกษา  โรงเรียนสกลทวาปี  สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร  ปีการศึกษา   2565

บทคัดย่อ  การทำโครงงานคณิตศาสตร์ โดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นฐานบูรณาการกับท้องถิ่น เรื่อง คู่อันดับและกราฟมหัศจรรย์  สร้างพัดสานจากไม้ไผ่ ออกแบบลวดลายด้วย GSP ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ

1) เพื่อนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ เรื่อง คู่อันดับและกราฟ และการแปลงทางเรขาคณิต มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบลวดลายของพัดสาน

2) เพื่อสร้างสรรค์ลวดลายการสานพัดที่มีความสวยงามและหลากหลาย โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP)

และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อโครงงานคณิตศาสตร์ เรื่อง คู่อันดับและกราฟมหัศจรรย์  สร้างพัดสานจากไม้ไผ่  ออกแบบลวดลายด้วย  GSP

ผลการศึกษา  ผลที่ได้จากการทำโครงงานครั้งนี้  คือ

1) สามารถนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ เรื่อง คู่อันดับและกราฟ  และการแปลงทางเรขาคณิต  มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบลวดลายของพัดสาน

2) สามารถสร้างลวดลายพัดสานโดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) จำนวน 4 ลวดลาย คือ ลายรุ่งอรุณ  ลายสี่เหลี่ยมเปี่ยมสุข  ลายแก้วตาดวงหทัย และลายสี่ห้องหฤทัย

และ 3) จากผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อโครงงานคณิตศาสตร์ เรื่อง คู่อันดับและกราฟมหัศจรรย์ สร้างพัดสานจากไม้ไผ่  ออกแบบลวดลายด้วย GSP พบว่า  โดยภาพรวมนักเรียน  มีระดับความพึงพอใจในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อเรียงลำดับมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สื่อ และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมมีความเหมาะสม ( = 4.50) รูปแบบและเนื้อหาในการดำเนินกิจกรรม ( = 4.43) และความเหมาะสมของสถานที่และเวลาที่ดำเนินกิจกรรม ( = 4.34) ตามลำดับ

 

บ้านห้วยปลาใย ถิ่นภูไทโนนหอม 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน อ.เมืองสกลนคร

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of อภิชาติ ชาไชย

อภิชาติ ชาไชย

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสกลนคร อีเมล [email protected]