ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดงานนมัสการองค์พระธาตุเชิงชุมและไหว้หลวงพ่อพระองค์แสน ประจำปี 2567 จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นปีที่ 72 ของการจัดงาน โดยมีนางรำจากทั้ง 18 อำเภอ ที่แต่งกายในชุดเผ่าภูไทกว่า 5,000 คน ร่วมรำบูชาองค์พระธาตุเชิงชุม เพื่อความเป็นสิริมงคล
(19 มกราคม 2567) เวลา 15.30 น. ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานนมัสการองค์พระธาตุเชิงชุมและไหว้หลวงพ่อพระองค์แสน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เป็นปีที่ 72 ของการจัดงาน ณ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร โดยมี พระธรรมวชิรนายก เจ้าคณะภาค 8 เป็นประธานสงฆ์ พร้อมด้วยพระเทพสิทธิโสภณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 8 เจ้าอาวาสวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร พระราชวชิราทร เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร คณะสงฆ์ กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ส่วนราชการ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนทั้งจากจังหวัดสกลนคร จังหวัดใกล้เคียงและจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมพิธี
วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ริมหนองหาร กำหนดจัดงานนมัสการพระธาตุเชิงชุม เป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ – 15 ค่ำ เดือนยี่ คำว่า “เชิงชุม” หมายถึง การมีรอยเท้ามาชุมนุมกันอยู่ โดย “เชิง” หมายถึง เบื้องล่าง, ตีน ส่วน “ชุม” หมายถึง ประชุม, ชุมนุม โดยรวมก็คือการมีรอยพระพุทธบาทมารวมหรือชุมนุมกันอยู่แล้ว ซึ่งที่นี่จะมีรอยพระพุทธบาทถึง 4 รอย ด้วยกัน
พระธาตุเชิงชุมสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัด ตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงกำเนิดพระธาตุเชิงชุมไว้ว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธองค์พร้อมพระอรหันต์ ได้เสด็จโปรดสัตว์และประทับรอยพระพุทธ บาทตามสถานที่ต่าง ๆ ในแถบลุ่มน้ำโขงแล้วได้เสด็จมายังเมืองหนองหารหลวงซึ่งสันนิษฐานว่าคือเมืองสกลนคร ณ สถานที่แห่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาททับซ้อนลงบนรอยพระพุทธบาทของพระอดีตพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า และพระกัสสปพุทธเจ้า ที่ได้เคยเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้แล้วในบริเวณที่ เรียกว่า “ภูน้ำลอด” ซึ่งสันนิษฐานว่าคือบริเวณที่ตั้งของพระธาตุเชิงชุมในปัจจุบัน พระยาสุวรรณภิงคาร ผู้ครองเมืองหนองหารหลวงจึงโปรดให้ก่ออบมุง (อุโมงค์) ครอบรอยพระบาทดังกล่าวไว้ จึงเป็นที่มาของนาม “พระธาตุเชิงชุม”สำหรับองค์พระธาตุเชิงชุมที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นพระธาตุองค์ใหม่ที่สร้างครอบองค์เดิมไว้ลักษณะเป็นเจดีย์แบบล้านช้าง ส่วนยอดของเจดีย์คล้ายบัวเหลี่ยมไม่มีลวดลายประดับ ยอดฉัตรทองคำเหนือองค์พระธาตุทำด้วยทองคำบริสุทธิ์มีน้ำหนัก 247 บาท ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมสูง 24 เมตร
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
- บุรีรัมย์ คริสตจักรเมืองบุรีรัมย์ จัดงานเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส ส่งความสุขก่อนปีใหม่อย่างยิ่งใหญ่
- พะเยา หนุ่มขโมยย่องฉกเงินร้านข้าวมันไก่ 3 ครั้งเจ้าของสุดทนแจ้งตรจับ
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขานรับนโยบายกระทรวงคมนาคม พร้อมอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
ภายในวิหารที่ติดกับพระธาตุเชิงชุม เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระองค์แสน” พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน ด้านหน้าคือหลวงพ่อองค์แสนองค์เดิม ส่วนด้านหลังคือหลวงพ่อองค์แสนที่สร้างขึ้นใหม่ สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่จะทำการบูรณะวัดครั้งใหญ่
ซึ่งภายหลังพิธีเปิดงานแล้ว นางรำจากทั้ง 18 อำเภอ ของจังหวัดสกลนคร รวมกว่า 5,000 คน ในชุดเผ่าภูไท ร่วมรำบูชา ถวายองค์พระธาตุเชิงชุม เพื่อความเป็นสิริมงคล ด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: