ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดงานนมัสการองค์พระธาตุเชิงชุมและไหว้หลวงพ่อพระองค์แสน ประจำปี 2567 จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นปีที่ 72 ของการจัดงาน โดยมีนางรำจากทั้ง 18 อำเภอ ที่แต่งกายในชุดเผ่าภูไทกว่า 5,000 คน ร่วมรำบูชาองค์พระธาตุเชิงชุม เพื่อความเป็นสิริมงคล
(19 มกราคม 2567) เวลา 15.30 น. ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานนมัสการองค์พระธาตุเชิงชุมและไหว้หลวงพ่อพระองค์แสน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เป็นปีที่ 72 ของการจัดงาน ณ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร โดยมี พระธรรมวชิรนายก เจ้าคณะภาค 8 เป็นประธานสงฆ์ พร้อมด้วยพระเทพสิทธิโสภณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 8 เจ้าอาวาสวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร พระราชวชิราทร เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร คณะสงฆ์ กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ส่วนราชการ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนทั้งจากจังหวัดสกลนคร จังหวัดใกล้เคียงและจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมพิธี
วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ริมหนองหาร กำหนดจัดงานนมัสการพระธาตุเชิงชุม เป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ – 15 ค่ำ เดือนยี่ คำว่า “เชิงชุม” หมายถึง การมีรอยเท้ามาชุมนุมกันอยู่ โดย “เชิง” หมายถึง เบื้องล่าง, ตีน ส่วน “ชุม” หมายถึง ประชุม, ชุมนุม โดยรวมก็คือการมีรอยพระพุทธบาทมารวมหรือชุมนุมกันอยู่แล้ว ซึ่งที่นี่จะมีรอยพระพุทธบาทถึง 4 รอย ด้วยกัน
พระธาตุเชิงชุมสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัด ตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงกำเนิดพระธาตุเชิงชุมไว้ว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธองค์พร้อมพระอรหันต์ ได้เสด็จโปรดสัตว์และประทับรอยพระพุทธ บาทตามสถานที่ต่าง ๆ ในแถบลุ่มน้ำโขงแล้วได้เสด็จมายังเมืองหนองหารหลวงซึ่งสันนิษฐานว่าคือเมืองสกลนคร ณ สถานที่แห่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาททับซ้อนลงบนรอยพระพุทธบาทของพระอดีตพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า และพระกัสสปพุทธเจ้า ที่ได้เคยเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้แล้วในบริเวณที่ เรียกว่า “ภูน้ำลอด” ซึ่งสันนิษฐานว่าคือบริเวณที่ตั้งของพระธาตุเชิงชุมในปัจจุบัน พระยาสุวรรณภิงคาร ผู้ครองเมืองหนองหารหลวงจึงโปรดให้ก่ออบมุง (อุโมงค์) ครอบรอยพระบาทดังกล่าวไว้ จึงเป็นที่มาของนาม “พระธาตุเชิงชุม”สำหรับองค์พระธาตุเชิงชุมที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นพระธาตุองค์ใหม่ที่สร้างครอบองค์เดิมไว้ลักษณะเป็นเจดีย์แบบล้านช้าง ส่วนยอดของเจดีย์คล้ายบัวเหลี่ยมไม่มีลวดลายประดับ ยอดฉัตรทองคำเหนือองค์พระธาตุทำด้วยทองคำบริสุทธิ์มีน้ำหนัก 247 บาท ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมสูง 24 เมตร
ข่าวน่าสนใจ:
- บุรีรัมย์ คริสตจักรเมืองบุรีรัมย์ จัดงานเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส ส่งความสุขก่อนปีใหม่อย่างยิ่งใหญ่
- กาญจนบุรี พิธีตักบาตรพระ 10,000 รูป ฉลองตั้งเมือง 193 ปี พร้อมอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้มีพระคุณต่อประเทศชาติ
- พะเยา หนุ่มขโมยย่องฉกเงินร้านข้าวมันไก่ 3 ครั้งเจ้าของสุดทนแจ้งตรจับ
- บุรีรัมย์ เตือนวัยรุ่นอย่าทำ ขับรถหวาดเสียว ยกล้อโชว์ จับส่งศาล ศาลพิพากษาสั่งปรับและจำคุก
ภายในวิหารที่ติดกับพระธาตุเชิงชุม เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระองค์แสน” พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน ด้านหน้าคือหลวงพ่อองค์แสนองค์เดิม ส่วนด้านหลังคือหลวงพ่อองค์แสนที่สร้างขึ้นใหม่ สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่จะทำการบูรณะวัดครั้งใหญ่
ซึ่งภายหลังพิธีเปิดงานแล้ว นางรำจากทั้ง 18 อำเภอ ของจังหวัดสกลนคร รวมกว่า 5,000 คน ในชุดเผ่าภูไท ร่วมรำบูชา ถวายองค์พระธาตุเชิงชุม เพื่อความเป็นสิริมงคล ด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: