รศ.ดร. คมศร เลาห์ประเสริฐ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ จากพิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวรวิทย์ ตงศิริ และนายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน จากชมรมอารยธรรม สกลนคร ได้เข้าพบนายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เพื่อนำชิ้นส่วนของฟอสซิล ซึ่งเป็นโครงกระดูกของจระเข้ (ฟอสซิลจระเข้แคระ) ที่มีชื่อว่า “วาราโนซูคัส สกลนครเอนซิส” (Varanosuchus sakonnakhonensis) อายุประมาณ 128-130 ล้านปี มานำเสนอให้รับชม และอธิบายถึงประวัติการค้นพบซากฟอสซิลนี้ โดยมีนายวีระ ฤกษ์วาณิชย์กุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายนิพนธ์ นิยม หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสกลนคร และ นายนิทัศน์ สุดดีพงษ์ ผอ.สำนักงานทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสกลนคร เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอในครั้งนี้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2561 นายวรวิทย์ ตงศิริ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ภูล้อมข้าว ได้เดินสำรวจเพื่อหาแหล่งท่องเที่ยวที่บริเวณป่าภูล้อมข้าว ใกล้กับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร และได้พบชิ้นส่วนคล้ายกระดูกที่บริเวณดังกล่าว จึงได้แจ้งไปยังพิพิธภัณฑ์สิรินธร และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อส่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรวจสอบ พร้อมแจ้งไปยังกรมทรัพยากรธรณี เพื่อขออนุญาตดำเนินการเข้าสำรวจตรวจสอบชิ้นส่วนของกระดูกในบริเวณที่พบจากการสำรวจซึ่งนำโดย รศ.ดร.คมศร และ ดร.พรเพ็ญ พร้อมคณะ ได้พบชิ้นส่วนซากฟอสซิลบางส่วน จากนั้นจึงได้ทำการสำรวจอีกหลายครั้ง จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2563 ได้พบชิ้นส่วนฟอสซิลที่มีรูปร่างคล้ายจระเข้ จึงได้ขออนุญาตนำชิ้นส่วนออกจากพื้นที่ค้นพบ เพื่อส่งไปทำการวิจัยและตรวจสอบทางวิชาการโดยละเอียดที่ประเทศฝรั่งเศส และในช่วงปลายปี พ.ศ.2566 ได้รับแจ้งผลการวิจัยตรวจสอบยืนยันว่าชิ้นส่วนที่พบเป็นซากฟอสซิลของจระเข้ ความยาวของลำตัวประมาณ 100-130 เซ็นติเมตร อายุประมาณ 128-130 ล้านปี
โดยคณะผู้สำรวจได้ร่วมกันตั้งชื่อซากฟอสซิลนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่จังหวัดสกลนคร โดยมีชื่อว่า “วาราโนซูคัส สกลนครเอนซิส” ( Varanosuchus.Sakonnakhonensis) และจากการค้นพบซากฟอสซิลในครั้งนี้ ถือเป็นซากฟอสซิลจระเข้แคระ ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยและทวีปเอเชีย โดยจากประวัติการค้นพบซากฟอสซิลของจระเข้ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ครั้งนี้เป็นการค้นพบครั้งแรก
เบื้องต้น จังหวัดสกลนคร ได้นำซากฟอสซิลของจระเข้แคระนี้ เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ภูพาน และจะทำการแถลงข่าว เผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: