มหาดไทย – ขับเคลื่อน ธนาคารขยะ “MOI Waste Bank จังหวัดสกลนคร” ที่ธนาคารขยะเทศบาลตำบลพังโคน ชุมชนบ้านใหม่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ประกาศความสำเร็จ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 ธนาคารขยะ “ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่”
ที่บริเวณธนาคารขยะเทศบาลตำบลพังโคน ชุมชนบ้านใหม่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานเปิดกิจกรรมขับเคลื่อนธนาคารขยะ “MOI Waste Bank จังหวัดสกลนคร” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยปักธงประกาศความสำเร็จ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 ธนาคารขยะ จังหวัดสกลนคร พร้อมมอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารขยะ และเยี่ยมชมนิทรรศการผลการดำเนินการขับเคลื่อนธนาคารขยะ ของธนาคารขยะชุมชนบ้านใหม่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ที่มีผลการดำเนินงานขับเคลื่อนธนาคารขยะที่โดดเด่นในระดับจังหวัด และระดับประเทศ มีการซื้อขายขยะรีไซเคิล และการสาธิตผลิตไม้กวาดจากขวดลพาสติก
โดยมีนางทัศนาวัลย์ วิริยานภาภรณ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสกลนคร/ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสกลนคร นางรุ่งจิตร อรรถสาร ท้องถิ่นจังหวัดสกลนคร นายสมเจตน์ พิมพานนท์ นายอำเภอพังโคน นาย กฤษฎา วงศ์กาฬสินธุ์ นายกเทศมนตรีตำบลพังโคน หัวหน้าส่วนราชการ แม่บ้านมหาดไทย ชาวบ้านชุมชนบ้านใหม่ ตลอดจนอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม
นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยในปัจจุบัน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน สิ่งหนึ่งที่จะสามารถช่วยได้ ก็คือการคัดแยกประเภทของขยะ อย่างเช่นธนาคารขยะ ของเทศบาลตำบลพังโคน ซึ่งเป็นธนาคารขยะต้นแบบของจังหวัดสกลนคร โดยพี่น้องประชาชนมีการรวมตัวกัน และนำขยะมาขายให้กับเทศบาล เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นเงิน ซึ่งประชาชนจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องของราคา โดยพบว่าชาวบ้านที่ตำบลพังโคนมีการคัดแยกขยะ จนกลายเป็นนิสัย นอกจากนี้ ธนาคารขยะจะมีส่วนช่วยในการลดสภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับกิจกรรมขับเคลื่อนธนาคารขยะ “MOI Waste Bank จังหวัดสกลนคร” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยปักธงประกาศความสำเร็จ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 ธนาคารขยะ จังหวัดสกลนคร จัดขึ้นโดยสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดสกลนคร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทยรวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ อปท. นำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ภายใต้หลักการ 3 R คือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ รณรงค์สร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ การคัดแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิล จำหน่าย เพื่อให้มีรายได้กลับคืนสู่ชุมชน และนำไปจัดสวัสดิการชุมชนร่วมกับสมาชิกธนาคารขยะต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: