กรมประมง จับมือ 35 ชุมชนอนุรักษ์ Kick off “ประมงร่วมอาสา…พาปลากลับบ้านจากโขงสู่หนองหาร” ประจำปี 2567 ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ กว่า 2 ล้านตัว ลงสู่หนองหาร จ.สกลนคร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
วันนี้ (26 ก.ค. 2567) เวลา 09.30 น. ณ ท่าน้ำหน้าวัดมหาพรหมโพธิราช บ้านท่าวัดเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นประธานในพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และพิธีเปิด (Kick Off) โครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำคัญ “หนองหาร” (ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่หนองหาร) ประจำปี 2567 โดยมี รองอธิบดีกรมประมง ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานสังกัดกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกรมประมง ประมงจังหวัดสกลนคร อำเภอเมืองสกลนคร เทศบาลตำบลเหล่าปอแดง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสาพระราชทาน นักเรียน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ซึ่งได้ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ กว่า 2 ล้านตัว ลงสู่หนองหาร พร้อมมอบพันธุ์ปลาและเอกสารชุดความรู้ เรื่อง ชนิดสัตว์น้ำ ให้กับตัวแทนชุมชนเขตอนุรักษ์ฯ จำนวน 35 ชุมชน ตลอดจนเยี่ยมชมระบบ Mobile hatchery การผสมเทียมพ่อแม่พันธุ์ปลา และนิทรรศการความรู้ทางการประมง เผยจากการดำเนินโครงการฯ มากว่า 4 ปี สามารถเพิ่มจำนวนประชากรปลาเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนแล้วกว่า 124,181,000 ตัว
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี 2564 กรมประมงได้ดำเนินโครงการ “ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้าน” เพื่อฟื้นฟูผลผลิตสัตว์น้ำคืนความอุดมสมบูรณ์สู่ระบบนิเวศต้นน้ำและแม่น้ำสาขา ด้วยการร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดของไทย ด้วย “ชุดอุปกรณ์เพาะพันธุ์ปลาแบบเคลื่อนที่” (Mobile hatchery) และนำผลผลิตลูกปลาวัยอ่อนที่ได้ปล่อยคืนสู่ต้นน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิด ซึ่ง 2 พื้นที่เป้าหมาย คือ หนองหาร จังหวัดสกลนคร และกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา โดยตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ดำเนินการโครงการ ผลปรากฏว่า สามารถสร้างผลผลิตทรัพยากรปลาไทยและปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้มากถึง 249,541,000 ล้านตัว สามารถเพิ่มอาหารโปรตีนราคาถูกและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน โดยดึงคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรประมง เกิดการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำสำคัญให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นแหล่งการทำประมงที่สำคัญในภูมิภาค สร้างอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมงและประชาชนในพื้นที่ สอดคล้องกับนโยบาย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในพื้นที่ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในกระเป๋ามีเงิน”
สำหรับปี 2567 นี้ กรมประมง มีแผนที่จะปล่อยปลา “ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่หนองหาร” ภายใต้โครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญ “หนองหาร” จำนวน 40,000,000 ตัว ในพื้นที่เป้าหมาย 24 แห่ง ได้แก่ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหน้าวัดมหาพรหมโพธิราช, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำดอนงิ้วพัฒนา, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำดอนแก้ว, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำท่าตะวันรอน, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำท่าศาลา, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำบ้านท่าวัดใต้, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหน้าวัดสว่างอารมณ์, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหนองโนนทอง, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหน้าวัดเทพนิมิตร, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหน้าวัดราชินีสายประคำศักดิ์สิทธิ์, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำบ้านดอนตาลโง๊ะ, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหนองหารหลวง, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำท่าเรือ, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหนองดอนโพนทัน, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำสำนักสงฆ์พระศรีอารย์, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำอุทยานวังมัจฉา, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหนองแจ้ง, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำท่าเกวียน, เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ, บึงไฮ (แก้มลิง), ลำน้ำพุงบริเวณโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, ลำน้ำพุงบริเวณลานพญาเต่างอย, ลำน้ำก่ำ ,ลำน้ำบัง และหนองเบ็น
โดยกำหนดชนิดพันธุ์ปลาที่ได้ดำเนินการเพาะขยายพันธุ์และปล่อยลงแหล่งน้ำ จำนวน 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มปลาหนัง ได้แก่ ปลากดเหลือง ปลาเทโพ ปลาสวาย และ 2.กลุ่มปลากินพืช ได้แก่ ปลากาดำ ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห ปลาบ้า ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการเพิ่มผลผลิตในโครงการนี้ และได้ดำเนินการในบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำสายหลักหรือปากแม่น้ำโขง ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ร่วมกับชุมชนประมงอนุรักษ์ในพื้นที่รวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาไข่แก่ น้ำเชื้อสมบูรณ์ ฉีดฮอร์โมนผสมเทียม รีดไข่ เพาะฟักจนออกเป็นตัวอ่อน และนำลูกปลาวัยอ่อนบรรจุถุงควบคุมอุณหภูมิแล้วนำไปปล่อยลงในพื้นที่เป้าหมาย นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้เรียนรู้ในทุกกระบวนการขั้นตอน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งนี้ โดยกรมประมงได้มีการสนับสนุนการสร้างแหล่งอาหารสำรองเพื่อรองรับจำนวนลูกปลาที่จะนำมาปล่อย เป็นการเพิ่มอัตราการรอดและการเติบโตของลูกปลาจำนวนมาก หลังจากนำไปปล่อยในพื้นที่แหล่งต้นน้ำ และจะมีการประเมินความชุกชุมการแพร่กระจายและการเติบโตของพันธุ์ที่นำมาปล่อยอีกด้วย ภายใต้การมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นและผู้นำชุมชน…อธิบดีฯ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: