วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานสกลนคร (อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก) อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 4 (ปปส.ภ.4) จัดงานมหกรรมวันกองทุนแม่ของแผ่นดิน ภายใต้แนวคิด “2 ทศวรรษ กองทุนแม่ของแผ่นดิน ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง” จังหวัดสกลนคร โดยมีนายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธาน พร้อมด้วยนางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต ที่ปรึกษา สำนักงาน ป.ป.ส. นายสุรพล แก้วอินธิ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายคณิศร ภาพีรนนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 4 หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนระดับจังหวัด/อำเภอ แกนนำหมู่บ้าน/ชุมชนกองทุนแม่ของแผ่นดิน วิทยากรกระบวนการระดับภาค/จังหวัด และเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 4 เข้าร่วม จำนวนทั้งสิ้น 280 คน
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และให้กลุ่มเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินทุกระดับ พร้อมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมขับเคลื่อนงาน แสดงออกซึ่งความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เพื่อเป็นการจัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานและประสบการณ์การขับเคลื่อนงานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามแนวทางกองทุนแม่ของแผ่นดิน ด้วยกระบวนการสันติวิธี กิจกรรมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด และเพื่อพัฒนากระบวนการ กลไกการขับเคลื่อนงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน ด้วยการบูรณาการการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า จังหวัดสกลนคร มีเป้าหมายหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน จำนวน 472 หมู่บ้าน ซึ่งจะต้องเป็นสีขาวทั้งหมด และเราก็จะขยายผลไปสู่หมู่บ้านปกติต่อไป
ด้านนางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า การที่เราจะแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยใช้ภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เราต้องเน้นถึงคำว่า “สันติวิธี” ซึ่งกองทุนแม่แตกต่างจากกองทุนอื่นตรงคำว่า “สันติวิธี” ว่าอยากจะให้ทุกๆคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยดูแลบ้านหรือชุมชนของตนเองให้ปลอดจากยาเสพติดหรือว่ามียาเสพติดแล้วอยู่กับยาเสพติดได้อย่างสังคมปลอดภัย อีกทั้งกองทุนแม่มีความสำคัญในด้านการยึดเหนี่ยวจิตใจ ก็คือการที่เรามีวิทยากร กระบวนการ ที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะให้ความมั่นใจหรือความเข้าใจ ในเรื่องของพื้นที่ที่จะดูแลและแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยมีวิธีการทั้งหมด 10 ขั้นตอนที่จะดูแล และก็มีวิทยากรที่เข้าไปสอน ไปแนะนำวิธีการในการดำเนินงานให้ถูกต้องและเหมาะสม
ข่าวน่าสนใจ:
- ขอนแก่น จัดงานสุดยอดมหกรรมเทศกาลอาหาร “ขอนแก่นแซ่บเวอร์ Soft power foodThailand”พบการแสดงศิลปวัฒนธรรมอีสาน และศิลปินชื่อดังระหว่างวันที่ 25-29…
- บุรีรัมย์ โรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคารจัดโครงการ “ปลูกฝันวรรณศิลป์” ปีที่ 6
- ภูเก็ตจัดพิธีรำลึก "สึนามิ" ครบรอบ 20 ปี ที่หาดป่าตอง-สุสานไม้ขาว
- มอบของขวัญปีใหม่แก่ผู้พิการในงานวันคนพิการสากลฯ เฉลิมพระเกียรติฯ จ.สระแก้ว
ทั้งนี้ สำนักงาน ปปส.ภาค 4 มีพื้นที่รับผิดชอบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 12 จังหวัด มีการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 4,874 หมู่บ้าน/ชุมชน โดยดำเนินงานตามหลักปรัชญาและแนวคิดกองทุนแม่ของแผ่นดิน ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ทุนศักดิ์สิทธิ์ ทุนศรัทธา และ ทุนปัญญา มีความมุ่งหวังให้เป็นเงินกองทุนขวัญถุงอยู่ในทุกหมู่บ้าน/ชุมชนให้ต่อสู้กับยาเสพติดและเป็นศูนย์รวมของคนในหมู่บ้าน/ชุมชนให้รู้รักสามัคคีสร้างความสมานฉันท์ พึ่งพาความเข็มแข็งของตนเองร่วมกันเอาชนะปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะภัยจากยาเสพติดบนพื้นฐานของการให้อภัยทางสังคมด้วยแนวทางสันติ และเป็นสังคมแห่งคุณธรรมอย่างแท้จริง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: