โรงพยาบาลสกลนคร จัดกิจกรรม “ร่วมเป็นหนึ่งเสียง ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว” รณรงค์พร้อมประกาศเจตนารมณ์ในการยุติความรุนแรง เน้นย้ำ “ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาที่สังคมต้องร่วมกันแก้ไข”
วันที่ 27 พ.ย. 2567 ที่โรงพยาบาลสกลนคร นพ.สมศักดิ์ ประฏิภาณวัตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนคร เป็นประธานเปิด กิจกรรม “ร่วมเป็นหนึ่งเสียง ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว” โดยมี พ.ญ.จุฑารัตน์ นันตะสุข ประธานศูนย์พึ่งได้โรงพยาบาลสกลนคร ผู้บริหารโรงพยาบาล บุคลากรทางหารแพทย์ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสกลนคร และคณะครู นักเรียนจากโรงเรียนเทศบาล 1 “เชิงชุมประชานุกูล เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมลงนามความร่วมมือ และเดินรณรงค์แจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์ร่วมกันยุติการกระทำความรุนแรงต่อสตรี สร้างความตระหนักรู้ โดยกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการยุติความรุนแรง รวมถึงการประชาสัมพันธ์ช่องทางการขอความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง
นพ.สมศักดิ์ ประฏิภาณวัตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนคร กล่าวว่า จากสถิติผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาลสกลนคร พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่น่าเป็นห่วงคือ ยังมีผู้ถูกกระทำความรุนแรงอีกจำนวนมากที่ไม่กล้าเปิดเผยหรือขอความช่วยเหลือ ในส่วนของโรงพยาบาลสกลนคร ได้จัดตั้งศูนย์พึ่งได้ เพื่อเป็นที่พึ่งของผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง โดยมีทีมสหวิชาชีพพร้อมให้ความช่วยเหลือแบบครบวงจร ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การให้คำปรึกษา การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงในครอบครัว รองลงมาคือการล่วงละเมิดทางเพศ พบว่ากว่า 60% เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี สาเหตุหลักมาจากการดื่มสุราปัญหาเศรษฐกิจ และความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับบทบาทหญิงชายในสังคม ทั้งนี้ เราเชื่อว่ายังมีผู้ถูกกระทำความรุนแรงอีกจำนวนมากที่ยังไม่กล้าเปิดเผยหรือขอความช่วยเหลือ
ข่าวน่าสนใจ:
กิจกรรมในวันนี้ นอกจากจะเป็นการรณรงค์สร้างความตระหนักในสังคมแล้ว ยังเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของชาวโรงพยาบาลสกลนครและภาคีเครือข่าย ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่งความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาที่สังคมต้องร่วมกันแก้ไข
พร้อมฝากถึงผู้ที่กำลังประสบปัญหาความรุนแรงว่า คุณไม่ได้อยู่คนเดียว มีหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญ พร้อมให้ความช่วยเหลือ อย่ากลัวหรืออายที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะยิ่งปล่อยไว้นานปัญหาอาจรุนแรงขึ้น สามารถติดต่อศูนย์พึ่งได้โรงพยาบาลสกลนครได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสายด่วน 1300 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ส่วนประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรง ขอให้ช่วยกันสอดส่องดูแลและแจ้งเหตุเพราะการช่วยเหลือของท่านอาจช่วยรักษาชีวิตของใครบางคนไว้ได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: