@สกลนคร-นักศึกษา ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนครโชว์นวัตกรรมเครื่องอัดก๊าซจากสิ่งปฏิกูล พลังงานสู่เครื่องยนต์ไบโอก๊าซ ผลิตไฟฟ้าใช้เองในครัวเรือน พร้อมส่งเสริมเกษตรกรช่วยลดมลภาวะ
ผู้สื่อข่าวจังหวัดสกลนครรายงานว่าภายในงานรวมน้ำใจไทสกลและงานกาชาดประจำปี 2561 โดยนายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เปิดงานไปเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อหารายได้ช่วยการกุศล ผู้ด้อยโอกาส ผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ส่งเสริมการขายสินค้าโอทอปวิสาหกิจชุมชน จาก 18 อำเภอ กระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดสกลนคร มีการจัดนิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็ได้ โชว์นวัตกรรม ใหม่ๆ มาจัดแสดง ให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้
สำหรับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร ก็ได้นำเครื่องยนต์อเนกประสงค์จากพลังงานก๊าซธรรมชาติ Technology in Biogas Utilization: Biogas Feeder Prototype and Biogas Compressor and Storage โดยคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มี รศ.ดร.อัญชสา ประมวลเจริญกิจ รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ดร.ศิริลักษณ์ พานโคกสูง ดร.อมลิน ต้องกระโทก และดร.ณภสินธุ์ พัฒนากุล ร่วมกันค้นคว้าวิจัยและผลักดันนักศึกษาจนสามารถสร้างเครื่องต้นแบบ คิดค้นขั้นตอนและกระบวนการผลิตตั้งแต่การหมักก๊าซชีวภาพจากสิ่งปฏิกูลต่างๆ ขั้นตอนการนำก๊าซผ่านระบบอัดก๊าซจากบ่อบ่มสู่ถังเชื้อเพลิง และการนำไปใช้กับเครื่องยนต์
รศ.ดร.อัญชสา ประมวลเจริญกิจ กล่าวว่า กระบวนการอัดก๊าซสู่ถังบรรจุถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ต้องคำนวณและตรวจวัดอย่างละเอียด ระบบกรองก๊าซที่คิดค้นขึ้นสามารถดักก๊าซและสารที่เป็นอันตรายต่อเครื่องยนต์ออกไปให้เหลือแต่ก๊าซเชื้อเพลิงบริสุทธิ์ สำหรับต้นทุนการผลิตเครื่องอัดก๊าซ ประมาณ 5,000 บาท เครื่องยนต์รถ จยย. 5,000 บาท บวกค่าใช้จ่ายเรื่องระบบท่อกับถังเชื้อเพลิง ต้นทุนก็ตกอยู่ประมาณหมื่นต้นๆ
ด้านนายนเรศ อุ่นอก ตัวแทนนักศึกษา ม.เกษตร กล่าวว่า การผลิตทุกขั้นตอนตั้งอยู่ในความปลอดภัยสูงสุดของประชาชนที่จะนำไปใช้ เหมาะกับเกษตรกรที่เลี้ยงปศุสัตว์ สามารถหมักมูลโค-กระบือ หรือหมู ตลอดจนขยะมูลฝอยในครัวเรือน มาเป็นก๊าซธรรมชาติ ลดต้นทุนเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันมีราคาที่ผันผวนและมีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งน้ำมันและก๊าซหุงต้ม ทั้งยังเป็นการลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร โดยคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เห็นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน สามารถนำไปใช้ได้จริงในครัวเรือน ตลอดจนภาคการเกษตร ลดมลภาวะสิ่งแวดล้อม ลดค่าใช้จ่าย ต้นทุนก็อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ก๊าซนำไปเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนเครื่องยนต์ เจนเนอเรเตอร์ปั่นไฟใช้ในบ้าน เพื่อสูบน้ำ กังหัน หรือกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวกับพลังงานจลน์ เรายินดีถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรที่สนใจ สามารถเข้ามาศึกษาระบบการทำงานได้ที่คณะวิทยาศาตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯ หรือที่นิทรรศการภายในงานกาชาด สนามหญ้าศาลากลางจังหวัดสกลนคร จนถึงวันที่ 21 ม.ค. นี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: