“9101 พลิกฟื้นผู้ประสบภัย” เกษตรจังหวัดสกลนครโชว์ผลสำเร็จ โครงการ 9101 พลิกฟื้นเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยชาวบ้านท่าแร่ ปลูกข้าวโพดแบบเกษตรอินทรีย์ ขายได้ทั้งฝักทั้งลำต้น กลับมาลืมตาอ้าปาก สู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่อย่างเข้มแข็ง
ภาพความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ในห้วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา เชื่อว่ายังคงอยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวจังหวัดสกลนคร อุทกภัยใหญ่ดังกล่าวสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ทุกอำเภอได้รับผลกระทบ ภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว สิ่งสาธารณูปโภค อาคาร บ้านเรือน ถนนหนทางเสียหายหลายสาย
ขณะที่ภาคการเกษตรพบว่ามีพื้นที่นาข้าว พืชไร่ ฟาร์มปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ จนไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ อย่างไรก็ดีทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ก็ได้ระดมกำลังความช่วยเหลือเข้ามาเยี่ยวยาซับน้ำตาผู้ประสบภัยอย่างไม่ขาดสายและต่อเนื่อง
ข่าวน่าสนใจ:
- พิธีมอบกรรมสิทธิ์และไถ่ชีวิตโค-กระบือ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- กระบะซิ่งหนีสายตรวจ แหกโค้งพุ่งลงคูน้ำดับ ยกคัน 7 ศพ พบเป็นแรงงานต่างด้าว หลายราย
- เจ้าหน้าที่ตำรวจ-สาธารณสุขและฝ่ายปกครอง บุกพบหนุ่มป่วน.
- เพชรบูรณ์ - นักท่องเที่ยวสุดเซ็ง! วางแผนไปเที่ยวเขาค้อภูทับเบิก หลังรู้ข่าวต้องเจอ"ทริปน้ำไม่อาบ" ยอมยกเลิกหรือปรับไปเที่ยวที่อื่นแทน
ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้น้อมนำหลักการ ทฤษฎีและแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานไว้ถ่ายทอดสู่เกษตรกร พร้อมจัดทำโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย สำหรับอำเภอเมืองสกลนคร โดยสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสกลนคร มีทั้งหมด 37 โครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่อยู่รอบหนองหารแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสานซึ่งน้ำได้เอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตรเสียหายเป็นวงกว้าง
วันนี้(25 ม.ค. 2561) ที่ไร่ข้าวโพดกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าแร่ ห้วยแกลบ ริมหนองหาร ต.ท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร ก็ได้เห็นรอยยิ้มจากกลุ่มเกษตรกรที่เคยประสบกับอุทกภัยจนพืชผลทางการเกษตรเสียหาย โดยได้รับการช่วยเหลือจากโครงการ9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งชาวบ้านท่าแร่ได้รับการช่วยเหลือ 2 โครงการ ประกอบด้วยโครงการปลูกข้าวโพด 83 ราย และโครงการปลูกผักสวนครัวอีก 107 ราย หลังจากการทำนาปีชาวท่าแร่จะนิยมปลูกข้าวโพดเป็นอาชีพเสริม ซึ่งปฏิบัติติดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
นางอุดร ทองมะโรง อายุ 66 ปี เกษตรกรชาวบ้านท่าแร่ ม. 7 กล่าวว่า น้ำท่วมนาข้าวเสียหายทั้งหมดฉันเสียใจมาก จากนั้นก็ได้เข้าโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี ทางเกษตรจังหวัดก็ได้มามอบความรู้ด้านการเกษตร นำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด พร้อมกับน้ำหมักปุ๋ยมูลหมูชีวภาพ 4,000 ลิตร รวมมูลค่า 5 พันบาท มามอบให้กับฉันและเกษตรกรแต่ละราย ฉันก็นำมาปลูกในพื้นที่ 4 ไร่ ฉันสามารถลืมตาอ้าปากหลังวิกฤติน้ำท่วม คุณภาพชีวิตฉันก็ดีขึ้นเป็นลำดับ
ด้านนายสุวรรณชัย ทองอันตัง อายุ 67 ปี เกษตรกรชาวท่าแร่ กล่าวว่า หลังน้ำท่วมภาครัฐเข้ามาช่วยเกษตรกรก็มีกำลังใจดีขึ้น ข้าวโพดปลูกใช้เวลาประมาณ 60-70 วัน เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดราคาถุงละ 850 บาท 2 ถุง ปลูกได้ 1 ไร่ 2 งาน เมล็ดพันธุ์เอามาแช่น้ำเช้าถึงเย็นนำขึ้นมาห่อผ้าไว้ รุ่งเช้านำเมล็ดไปเพาะในแปลงปลูกที่เตรียมไว้ รดน้ำและใส่ปุ๋ยมูลหมู
เน้นต้องเป็นปุ๋ยมูลหมู เพราะจะทำให้ข้าวโพดโต ฟักสวย อร่อย ต้นแข็งแรง และทนต่อโรค สำหรับต้นทุนในการปลูกรวมค่าปุ๋ยเมล็ดพันธุ์และอื่นๆ เฉลี่ยตกไร่ละ 6,000 บาท ผลผลิตฝักข้าวโพดเฉลี่ยอยู่ที่ 1-1.5 ตัน/ไร่ ราคารับซื้อข้าวโพดจะอยู่ระหว่าง กก.ละ 8-13 บาท ปัจจุบัน ราคาขายส่ง ณ วันที่ 25 ม.ค.61 อยู่ที่ กก.ละ 10 บาท ดังนั้นจะขายข้าวโพดได้ราคาประมาณ 10,000-15,000 บาท /ไร่
นอกจากนี้เกษตรกรชาวท่าแร่ยังปลูกข้าวโพดแบบเกษตรอินทรีย์ตามที่เกษตรจังหวัดได้ให้ความรู้มา ทำให้ลำต้นข้าวโพดก็สามารถขายได้ เอาไปเป็นอาหารวัว-ควาย โดยจะมีผู้เลี้ยงปศุสัตว์มาซื้อถึงสวนในราคา 100 ต้น/20 บาท 1 ไร่ มีประมาณ 6,000 ต้น ดังนั้นเกษตรกรจะได้เงินจากการขายต้นข้าวโพดเสริมอีก คิดเป็นเงินเฉลี่ย 1 ไร่/1,200 บาท
ด้านนายสิงห์ ขอมีกลาง ผู้ใหญ่บ้านท่าแร่ ม.5 กล่าวว่า ชาวบ้านท่าแร่ปลูกข้าวโพดมาหลายสิบปีหลังจากการทำนาปี ข้าวโพดนิยมปลูกในช่วงฤดูหนาว มี 2 พันธุ์ ประกอบด้วย พันธุ์ สวีทหวาน และสวีทไวโอเล็ต จะมีพ่อค้าทั้งในและต่างจังหวัดมารับซื้อข้าวโพดกลุ่มบ้านท่าแร่ถึงสวน กลุ่มข้าวโพดท่าแร่มีหลายร้อยราย เนื้อที่เพาะปลูกมากกว่าพันไร่ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
นายณัฎฐกิตติ์ ของทิพย์ เกษตรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า เราได้ส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์โดยไม่พึ่งสารเคมี และได้จัดสรรงบประมาณจากโครงการ9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ที่เข้าร่วมโครงการรายละ 5,000 บาท เพื่อให้เกษตรกรที่ประสบอุทกภัยจากพายุเซินกา ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ให้มีอาหารบริโภคในครัวเรือนหลังน้ำลด อันเป็นการลดรายจ่าย สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ฟื้นฟู และส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรที่ประสบอุทกภัย
โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน มุ่งให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดโครงการพัฒนา โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และบริหารจัดการโครงการด้วยตนเอง ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนแล้ว ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการทำงานในพื้นที่ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ อันจะส่งผลต่อเนื่องให้ภาคการเกษตรมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกษตรกรสว่างแดนดิน! ทำเกษตรผสมผสาน”พลิกฟื้นชีวิต”หลังวิกฤติน้ำท่วม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: