สกลนคร-นักโบราณคดีฟันธง หลังลงพื้นที่สำรวจหินศิลาแลงโบราณ เผยศาสนสถานยุคขอมจะสร้างด้วยหิน ขณะที่บ้านเรือนสร้างด้วยไม้ พบเคยมีศิวลึงค์และฐานโยนี ก่อนถูกขโมยไปเมื่อหลายสิบปีก่อน เร่งประสานกรมศิลปากรสำรวจอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวจังหวัดสกลนครรายงานว่า นายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน นักโบราณคดีอิสระ พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณที่พบหินศิลาแลงโบราณใกล้ทุ่งนาชายป่าบ้านกกส้มโฮง ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาทึบ ตรงกลางมีลักษณะคล้ายหลุมขนาดใหญ่ลึกประมาณ 1.50 เมตร สันนิษฐานว่าเกิดจากคนที่เข้ามาขโมยขุดหาสมบัติในอดีต
ลักษณะของหินศิลาแลง มีรูปทรงเล็กใหญ่หลายขนาด กระจายอยู่ทั่วบริเวณ มีต้นไม้ใบหญ้าปกคลุมอยู่ ในอดีตพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่น้ำหลากจึงมีการทับถมของดินจนกลบโบราณสถานดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าเป็นศาสนสถานในยุคขอมเรืองอำนาจ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชาวขอมจะสร้างบ้านด้วยไม้ซึ่งจะพุพังไปตามกาลเวลา แต่จะสร้างศาสนสถานบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยหินศิลาแลงและหินทรายซึ่งมีความคงทนแข็งแรงกว่า
นายชัยยา พรหมเคน อายุ 45 ปี ชาวบ้านกกส้มโฮง ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งสร้างบ้านใกล้กับจุดพบหินศิลาแลงดังกล่าวเพียง 100 เมตร กล่าวว่า ตนเป็นคนที่อื่นมาสร้างบ้านอยู่กับคุณพ่อตอนนั้นผมอยู่ ป.1 ก็กว่า 30 ปีมาแล้ว ก็เห็นหินศิลาแลงวางกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณดังกล่าว ตอนนั้นต้นไม้ยังไม่ขึ้นปกคลุมมากเท่าปัจจุบันนี้ และเคยได้ยินมาว่ามีคนมาขุดสมบัติ อาทิ ถ้วยไห กำไล ของเก่าต่างๆ ก็จะมีเหตุเป็นไปบางรายก็ตาบอด
ด้านนายคำสิงห์ พรหมเคน อายุ 76 ปี พ่อของนายชัยยา กล่าวว่า ตอนที่ผมอายุ 45 ปี ก็เคยเข้าไปเก็บเห็ดโคนบริเวณดังกล่าวอยู่บ่อยๆ ก็เห็นหินศิลาแลงอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่รอบบริเวณ มีลักษณะคล้ายถูกขุดหาสมบัติ นอกจากนี้ยังมีหินลักษณะคล้ายศิวลึงค์ นอนล้มอยู่ มีหินสกัดเป็นช่องคล้ายฐานโยนี เห็นอยู่เช่นนั้นได้ 4-5 ปี จากนั้นก็หายไป ตนก็เป็นชาวบ้านธรรมดา ลูกก็ยังเด็ก ก็ไปวิ่งเล่นแถวนั้นบ้าง และก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร มีค่าเพียงไหน อย่างไรก็ดีลูกชายอีกคน อายุ 40 ปี ซึ่งเรีอนจบปริญญาเอก ทำงานที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็สามารถยืนยันเรื่องดังกล่าวได้
นายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน นักโบราณคดี กล่าวว่า ลักษณะหินศิลาแลงบ่งบอกถึงสถาปัตยกรรมโบราณ ซึ่งก็มีหลายเชื้อชาติ แต่หินศิลาแลงบริเวณนี้อยู่ห่างจากสะพานขอมไม่ถึงกิโลเมตร ใกล้กับพระธาตุนารายณ์เจงเวง รวมถึงพระธาตุดูม และพระธาตุภูเพ็ก ซึ่งเป็นศาสนสถานยุคขอมเรืองอำนาจ ระหว่าง พ.ศ. 1500-1800 ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองจนถึงขีดสุด แผ่อิทธิพลเข้ามาอยู่ในภูมิภาคประมาณ 300 ปี
โดยเฉพาะในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก่อนอาณาจักรจะเสื่อมอำนาจไป จึงสันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานแต่ละแห่งมีความเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้จากคำบอกเล่าของลุงคำสิงห์ ที่บอกลักษณะศิวลึงค์ และฐานโยนีได้อย่างถูกต้องแม่นยำ จึงส่งเสริมให้ข้อสันนิษฐานที่ว่าบริเวณดังกล่าวเป็นศาสนสถานยุคขอมเป็นความจริง
ตนเสียดายของโบราณต่างๆ ที่หายสาบศูนย์ไป หากได้อนุรักษ์ไว้หรือเก็บในพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ เป็นการบอกเล่าถึงอาณาจักรที่เรืองอำนาจในยุคอดีตและการเสือมอำนาจ จะเป็นประโยชน์กับประชาชนรวมถึงเยาวชนเป็นอย่างมาก สำหรับศิวลึงค์และฐานโยนียุคขอมหากออกไปสู่ตลาดค้าวัตถุโบราณต่างชาติจะประเมินราคาไม่ได้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดีตนจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร เข้ามาสำรวจอย่างเป็นทางการอีกครั้ง พร้อมกับขออนุญาตเจ้าของที่ดิน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งของจังหวัดสกลนครในอนาคต นายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน นักโบราณคดี กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: