สกลนคร-ภัยพิบัติ น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ กรณีหอเตือนภัยกลางเมือง ไม่มีเสียงเตือนแต่อย่างใด ด้านผอ. ศูนย์ปภ.เขต 7 เผยหอเตือนภัยอยู่ระหว่างซ่อมบำรุง และซ่อมเสร็จแล้ว โชว์ระบบเตือนภัยทั้งภาษาไทยและอังกฤษ พร้อมรับมือพายุฤดูร้อนปีนี้
ภัยพิบัติ สกลนครจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายเดือน ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา โดย เพจเฟชบุ๊ค “ฅนภูพาน” ได้นำเสนอประเด็นที่ชาวสกลนครตั้งคำถามว่าหอเตือนภัยพิบัติ ซึ่งตั้งอยู่ริม ถนนสกลนคร-นาแก เขตเทศบาลนครสกลนคร ใช้งานได้จริงหรือไม่อย่างไร ประชาชนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นกับเรื่องดังกล่าวและรู้สึกเสียดาย หากใช้ได้จริงทำไมช่วงภัยพิบัติ น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา จึงไม่ได้ยินเสียงเตือนภัย โดยต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง
ล่าสุด วันนี้ (19 ก.พ. 2561) นายทแกล้ว นุศรีวอ ผอ.ศูนย์ ปภ.เขต 7 สกลนคร พร้อมด้วย นายวิชาญ แท่นหิน ปภ.จังหวัดสกลนคร พร้อมเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ชี้แจงถึงที่มา รวมถึงขั้นตอนการซ่อมบำรุงหอเตือนภัยพิบัติดังกล่าว โดยได้ติดป้ายประกาศบริเวณรั้วเหล็กของหอเตือนภัย ระบุว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย “หอแห่งนี้อยู่ระหว่างบำรุงรักษา” โครงการ จ้างเหมาบำรุงรักษาอุปกรณ์เตือนภัย สัญญาเลขที่ มท 0604/2560 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2560 เริ่มสัญญาวันที่ 6 ก.ค. 2560 สิ้นสุดสัญญา 5 ก.ค.2561 หน่วยงานรับผิดชอบ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ผู้รับจ้าง บริษัทเรย์แดนท์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บำรุงรักษาแล้วเสร็จวันที่ 19 ก.พ. 2561
นายทแกล้ว นุศรีวอ ผอ.ศูนย์ ปภ.เขต 7 สกลนคร กล่าวว่า หอเตือนภัยทั่วประเทศมี 308 แห่ง ที่สกลนครมี 3 แห่งคือบริเวณนี้ อ.เมืองสกลนคร อ.ภูพาน และ อ.สว่างแดนดิน สร้างหลังเหตุการณ์ สึนามิ เมื่อปี พ.ศ. 2547 เริ่มใช้อย่างเป็นทางการประมาณ ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบันเวลาผ่านไป 13 ปี หอเตือนภัยบางแห่งก็เสื่อมสภาพ และเริ่มชำรุดตามกาลเวลา อย่างไรก็ดี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ อนุมัติงบในการซ่อมบำรุงหอเตือนภัยพิบัติทั่วประเทศให้ใช้งานได้เป็นปกติ
หอเตือนภัยเป็นทรัพย์สินของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวง ICT ต่อมารัฐบาลต้องการให้การทำงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว คล่องตัวและเป็นเอกภาพ จึงได้โอนมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย เมื่อปลายปี พ.ศ.2559 ในช่วงรอยต่อเช่นนี้หอเตือนภัยของจังหวัดสกลนครก็อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงเช่นเดียวกัน โดยนายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ร่วมกับ ศูนย์ ปภ. เขต 7 และ ปภ.จังหวัด ก็ได้ดูแลการทำงานอย่างใกล้ชิด และตามสัญญาว่าจ้างก็ระบุว่ากรอบการซ่อมบำรุงถึงวันที่ 5 ก.ค. 2561 ล่าสุดวันนี้การซ่อมบำรุงก็เสร็จแล้ว
นายวิชาญ แท่นหิน ปภ.จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า วันนี้เราได้ทดสอบระบบเตือนภัยในรูปแบบต่างๆ เสียงประกาศทั้งเสียงภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สำหรับการทำงานของ ระบบหอเตือนภัยประกอบด้วย ส่วนควบคุมหลักอยู่ที่ส่วนกลาง ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งมาจากหลายแหล่งข้อมูล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านระบบดาวเทียม
ซึ่งแหล่งข้อมูลที่สำคัญจากในประเทศประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กรมอุทกศาสตร์ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมควบคุมมลพิษ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทา-สาธารณภัย เป็นต้น ส่วนแหล่งข้อมูลที่สำคัญจากต่างประเทศประกอบด้วย ศูนย์เตือนภัยสึนามิภูมิภาค แปซิฟิค (Pacific Tsunami Warning Center: PTWC) เป็นต้น
สำหรับรัศมีของเสียงประมาณ 2-3 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับสภาพที่ตั้งของหอ รวมถึงภูมิประเทศโดยรอบ สำหรับจังหวัดสกลนครจะทดสอบระบบเตือนภัยในวันที่ 1 และ 15 ของทุกเดือน เวลา 08.00 น. เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นหอจะประกาศเตือนด้วยเสียง จากนั้นจะส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกแห่งโดยทันที เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ เช่น เสียงตามสาย รถแห่ประกาศ และผ่านทางระบบออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ
หอเตือนภัยสามารถแจ้งเตือนได้หลายภาษาเช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น นอกจากนี้ หอเตือนภัยยังสามารถส่งข้อความได้หลายรูปแบบประกอบด้วย
ก) เพลงชาติ
ข) ข้อความทดสอบสัญญาณ
ค) เตือนภัยแผ่นดินไหว
ง) แจ้งเตรียมพร้อมเฝ้าระวังคลื่นสึนามิ
จ) แจ้งเตือนภัยสึนามิ
ฉ) แจ้งเตือนภัยพายุฝนฟ้าคะนอง
ช) แจ้งเตือนคลื่นลมแรง
ซ) แจ้งยกเลิกสถานการณ์
ฌ) แจ้งเตือนภัยฝนตกหนัก(ระยะที่ ๒)
ญ) แจ้งเตรียมพร้อมเฝ้าระวังน้ำท่วม(ระยะที่ ๒)
ฎ) แจ้งเตือนภัยน้ำท่วม(ระยะที่ ๒)
ฏ) แจ้งเตือนพายุฤดูร้อน(ระยะที่ ๒)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: