สกลนคร-ข่าวดีไม่พบมวลเมฆอันเป็นสัญญาณของพายุฤดูร้อนแต่ก็ ไม่ประมาท ควรเฝ้าระวังต่อไปจนถึงวันที่ 9 มี.ค. ขณะที่เรดาร์ตรวจพบกลุ่มเมฆขนาดใหญ่ที่ จ.ร้อยเอ็ด มหาสารคาม เลย บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และนครราชสีมา
วันที่ 7 มีนาคม 2561 เวลา 16.00 น. นายสมบัติ อินภูวา เจ้าพนักงานสถานีอุตุนิยมวิทยาสกลนคร กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดเฝ้าระวังพายุฤดูร้อนในพื้นที่จังหวัดสกลนคร โดยเรดาร์ประจำสถานี ซึ่งสามารถตรวจจับมวลเมฆครอบคลุมเขตจังหวัดอีสานตอนบน พบว่ายังปกติซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็ ไม่ประมาท ควรเฝ้าระวังตั้งแต่วันนี้ต่อไปจนถึงวันที่ 9 มี.ค. 2561 เพราะการเกิดพายุฤดูร้อนนั้นใช้เวลาก่อตัวค่อนข้างเร็วประมาณ 1-2 ชม. ก็อาจเกิดฝนฟ้าคะนองขึ้นได้
โดยมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนซึ่งกำลังแผ่ลงมายังประเทศไทย ภาคอีสานจะได้รับผลกระทบก่อน เมื่ออากาศเย็นมาเจออากาศที่ร้อนจะเกิดความแปรปรวนและเกิดเป็นพายุฤดูร้อน ซึ่งมีลมกรรโชกแรง สำหรับลูกเห็บนั้น ก็จะเกิดจากเมฆที่ลอยสูงขึ้นไปเกิน 8 กม. เมื่อไปเจออากาศต่ำกว่า 0 องศา จึงเกิดเป็นลูกเห็บขึ้น
อย่างไรก็ดียังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดพายุฤดูร้อนในภาคอีสาน ลมจากทิศตะวันออกซึ่งพัดมาจากทะเลจีนใต้ ลมจากอ่าวไทย ความร้อนสะสม ความต่อเนื่องของมวลอากาศเย็นที่พัดมา ฯ ล่าสุดวันนี้พบมวลเมฆขนาดใหญ่อยู่ที่บริเวณอีสานตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด มหาสารคาม เลย บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ซึ่งบริเวณดังกล่าวคาดว่าจะเกิดฝนตกหนัก
ข่าวน่าสนใจ:
สกลนครถึงแม้เรดาร์จะไม่พบมวลเมฆที่อาจเกิดเป็นพายุฤดูร้อน แต่ก็ควรเฝ้าระวังต่อไปถึงวันที่ 9 มีนาคม เพื่อความไม่ประมาท เมื่อเกิดเหตุจะได้พร้อมรับมือ เพราะธรรมชาติก็คือธรรมชาติ ถึงแม้มนุษย์จะประดิษฐ์คิดค้นเรดาร์ เครื่องตรวจจับ หรือนวัตกรรมต่างๆ ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดภัยพิบัติแบบคาดไม่ถึงขึ้นมาได้ ดังนั้นประชาชนจึงควรติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาต่อไป
นายธีระ บุญนาคสีชัย ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาสกลนคร ระบุว่า วันที่ 9-11 มี.ค. จังหวัดสกลนครในช่วงเช้าจะมีอากาศเย็นสบาย หลังจากนั้นอากาศจะกลับมาร้อนเช่นเดิม
เกร็ดความรู้
ลูกเห็บ(อังกฤษ: Hail) เป็นก้อนน้ำลักษณะเหมือนน้ำแข็ง เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรของน้ำ โดยตกลงมาจากบรรยากาศในรูปของแข็ง โดยจะมีรูปร่างเป็นก้อนน้ำแข็งรูปร่างไม่แน่นอน เกิดจากละอองหยาดฝนซึ่งเย็นแบบยิ่งยวด (ยังอยู่ในสภาพของเหลวที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง) ในเมฆฝน ปะทะกับวัตถุแข็ง เช่น ผงฝุ่น หรือ ก้อนลูกเห็บที่เกาะตัวอยู่ก่อนแล้ว และแข็งตัวเกาะรอบวัตถุนั้น ๆ เป็นก้อนลูกเห็บ ก้อนลูกเห็บนี้อาจลอยตัวก่อเป็นก้อนอยู่เบื้องบนเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนจะตกลงมา เนื่องจากลมที่พัดพาอยู่เบื้องบน ดังนั้นลูกเห็บอาจเกาะตัวจนเป็นก้อนใหญ่มีน้ำหนักเกินกว่าที่ลมจะพัดให้ลอยอยู่ได้และตกลงมา
ฝนลูกเห็บมักจะมากับ พายุฝนที่รุนแรง และมักจะมีอากาศเย็น โดยที่อุณหภูมิของชั้นอากาศที่อยู่สูงนั้นเย็นกว่าอากาศที่อยู่ต่ำมาก ลูกเห็บขนาดเล็กจะถูกพัดพาสะท้อนขึ้นลงอยุ่ระหว่างชั้นบรรยากาศที่อากาศเย็นและร้อน เนื่องจากการลอยตัวขึ้นของอากาศร้อนและแรงดึงดูดของโลก ลูกเห็บที่ลอยตัวอยู่นานก็จะมีขนาดใหญ่ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ลูกเห็บขนาดใหญ่ก็อาจเกิดขึ้นได้ในเขตที่มีอากาศร้อน เนื่องมาจากการลอยตัวขึ้นที่รุนแรงของอากาศร้อน และยังสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูร้อนอีกด้วย
ลักษณะของลูกเห็บส่วนใหญ่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 มิลลิเมตร แต่บางทีอาจมีขนาดใหญ่ถึงหลายเซนติเมตรหรือใหญ่กว่านั้น ลูกเห็บขนาดเมล็ดถั่วจนถึงขนาดลูกกอล์ฟนั้นเป็นขนาดที่พบเห็นได้ทั่วไป เมื่อผ่าลูกเห็บออกจะเห็นชั้นหลายๆ ชั้นซ้อนกันอยู่ จำนวนชั้นบอกได้ว่าลูกเห็บนี้ถูกพัดขึ้นไปสูงขึ้นกี่ครั้ง โดยชั้นข้างในจะมีสีน้ำเงิน แล้วชั้นต่อไปสีจะจางลงเรื่อยๆ จนถึงสีขาว
สถิติของลูกเห็บที่หนักที่สุดในโลกนั้น ตกที่ เมืองคอฟฟีย์วิลล์ (Coffeyville) รัฐแคนซัส ในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2514 โดยหนักถึง 770 กรัม(หรือ 1.7 ปอนด์) มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 14.5 เซนติเมตร (5.7 นิ้ว) ส่วนลูกเห็บที่ขนาดใหญ่ที่สุดนั้นตกที่ ออโรรา (Aurora) รัฐเนแบรสกา ในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2546 ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 17.8 เซนติเมตร (7 นิ้ว) แต่มีน้ำหนักน้อยกว่า อาจเนื่องมาจากมีบางส่วนแตกหลุดไปในระหว่างตกกระทบบ้าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มทบ.29 พร้อม”รับมือ”พายุฤดูร้อน!!จัดชุดเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุ
พายุฤดูร้อน–ลูกเห็บ พัดถล่มสกลนคร เสียหายยับ จนท.เร่งช่วยเหลือ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: