X
หวาย

รู้หรือไม่? จ.สกลนครปลูก “หวาย” ตัดหน่อเยอะสุดในประเทศ เผยหวายอบแห้งผลิตไม่พอส่งออก!!

สกลนคร- อ.ภูพาน อ.วาริชภูมิ แหล่งผลิต หวาย ตัดหน่อเพื่อการบริโภคแห่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แกง หวาย อ่อนขมอร่อย ราคาดี ไม่ผันผวน ผลิตไม่ทันต่อผู้บริโภค เผยคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ อเมริกา/ยุโรป นิยมสั่งซื้อหวายอบแห้งไปรับประทาน เก็บได้นานแรมปี  แปรรูปเพิ่มมูลค่า 2,500 บาท/กก. 

เมื่อพูดถึงต้น หวาย หลายคนคงนึกถึงเครื่องจักรสาน เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากหวาย บางคนก็นึกถึงแกงหวายและรสชาติที่ขมนิดๆ บ้างก็นึกถึงการลงโทษด้วยการลงหวายแบบในละคร แต่หากถามว่าจังหวัดที่ผลิตหวายเพื่อการบริโภคแห่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย หลายคนคงสงสัยว่าต้นตำหรับหวายนั้นมาจากที่ใด วันนี้เกษตรจังหวัดสกลนครได้พาไปดูกลุ่มผู้ผลิตหวายแปลงใหญ่เทือกเขาภูพาน  อ.ภูพาน และ อ.วาริชภูมิ  ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตหวายเพื่อการบริโภครายใหญ่ที่สุดของประเทศ

จากการสำรวจเบื้องต้นที่ อ.ภูพาน มีการเพาะปลูกหวายกว่า 602 ไร่ และ อ.วาริชภูมิ 179  ไร่ ซึ่งเป็นการปลูกเพื่อการจำหน่าย เป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่รวมประชาชนที่นิยมปลูกไว้รับประทานในที่ดินภายในบ้าน  แบบเกษตรผสมผสานเพื่อรับประทานในครอบครัวอีกจำนวนมาก

สำหรับอำเภออื่นก็มีการปลูกหวายเพื่อการจำหน่ายเช่นกัน แต่โดดเด่นสุดคือ อ.ภูพาน และ อ.วาริชภูมิ   ในเนื้อที่จำนวนนี้เกษตรจังหวัดก็ได้เข้ามาสนับสนุนในหลายด้าน  การขยายพื้นที่เพาะปลูกให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด  การให้ความรู้เรื่องเกษตรผสมผสานและเกษตรอินทรีย์

หวายอบแห้ง กก.ละ 2,500 บาท

รวมถึงเรื่องน้ำเพราะหวายจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากช่วงฤดูฝน  หลังจากนั้นหน่อหวายก็จะเจริญเติบโตช้าและแห้ง  ราคาขายเฉลี่ยหน่อละ 3.50 บาท ตามขนาดความสมบูรณ์ของหวาย เกษตรกรสามารถตัดหน่อหวายใส่รถมาจำหน่ายที่ศูนย์รับซื้อภายในหมู่บ้านโนนสำราญ ตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน สะดวก สบาย รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางไปขายไกลและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง สร้างงานสร้างอาชีพแก่คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

นางอรวรรณ วิชัยลักษณ์ ผอ.กลุ่มส่งเสริมไม้ยืนต้น กรมส่งเสริมการเกษตร

วันนี้ นางอรวรรณ วิชัยลักษณ์ ผอ.กลุ่มส่งเสริมไม้ยืนต้น กรมส่งเสริมการเกษตร นายสนั่น สุธรรมมา เกษตรอำเภอวาริชภูมิ นางบัวไข ภูมีศรี เกษตรอำเภอภูพาน  พร้อมคณะก็ได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการปลูกหวายแปลงใหญ่เพื่อรับทราบข้อมูล รวมถึงปัญหา เพื่อหาทางช่วยเหลือ โดยเฉพาะเรื่องน้ำ สำหรับศูนย์เรียนรู้ เกษตรจังหวัดก็ได้จัดให้มีแปลงสาธิตการทำเกษตรผสมผสาน

ในเนื้อที่ 5 ไร่ มีการปลูกพืชระยะสั้น กลาง และยาว ปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทาน มีพืชเศรษฐกิจ อาทิ หวาย มะม่วง ลำไย มะขาม รวมถึงไม้ผลชนิดอื่นๆ ตลอดจนไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ โดยเกษตรกรสามารถเดินทางมาศึกษาดูงานได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

นายทองเชื่อม พูนเทกอง

นายทองเชื่อม พูนเทกอง อายุ 62 ปี เลขที่  35 ม.19 บ้านโนนสำราญ ตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ประธานกลุ่มแปลงใหญ่บ้านโนนสำราญ กล่าวว่า การปลูกหวายสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม  สามารถเลี้ยงชีพ  ครอบครัวอบอุ่น ไม่ต้องเดินทางไปทำงานที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลาง เป็นนายตัวเอง อยู่กับธรรมชาติ ทำเกษตรอินทรีย์ปราศจากมลพิษ

ตนปลูกหวายในเนื้อที่ 17 ไร่ หวาย 5 ไร่ทำเงินมากกว่า 1 แสนบาท/ปี หากทำเกษตรผสมผสานมีพืชชนิดอื่นปลูกแซมเข้าไป ลำไย ขนุน น้อยหน่า ฯ รวมถึงพืชผักสวนครัวต่างๆ จะสร้างรายได้เสริมอีกมหาศาล  เช่นการปลูกน้อยหน่าเสริมกับหวายขายได้ตกปีละมากกว่า 2 แสนบาท นอกจากนี้ตนก็ยังเพาะกล้าหวายจากเมล็ด รอการจำหน่ายสู่ตลาดกว่า 50,000 กล้า ราคาจำหน่ายในราคา ต้นละ 5 บาท ใช้เวลาเพาะเมล็ดนาน 6 เดือน หวายขายได้ทั้งแบบหน่อดิบ   แบบแกะเปลือก แบบต้ม หรือแบบอบแห่งส่งขายต่างประเทศ

นางนิคม พูนเทกอง อายุ 55 ปี ภรรยา กล่าวว่า เนื้อที่ 1 ไร่ จะปลูกหวายประมาณ 1,600 กอ ทุกวันนี้เรานำหวายมาแปรรูปส่งต่างประเทศซึ่งจะได้ราคาที่สูงกว่ามาก หวายปลอกเปลือก กก. ละ 250 บาท หากนำมาอบแห้งบรรจุภัณฑ์จะมีราคาสูงกว่า กก.ละ 2,500 บาท หรือขีดละ 250 บาท เราอบแห้งแบบธรรมชาติไม่พึ่งสารเคมีหรือสารกันบูด คนไทยที่อาศัยอยู่ที่ต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือยุโรป

ซึ่งล้วนต้องการรับประทานอาหารบ้านเกิดเมืองนอน หวายก็เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบในธรรมชาติที่คนไทยนิยมรับประทาน  โดยจะสั่งซื้อหวายอบแห้งไปรับประทานยังต่างประเทศ ปัจจุบันไม่สามารถผลิตทันตามความต้องการ คือจะผลิตหวายอบแห้งได้แค่ช่วงฤดูฝน พ.ค.-ก.ย. ซึ่งจะมีหน่อใหญ่ได้ขนาด และในช่วงดังกล่าวสามารถผลิตหวายอบแห้งได้ประมาณ 50 กก./ เดือน

สำหรับขั้นตอนการทำเริ่มจากต้มหวายที่คัดมาแล้ว ประมาณ 10 นาที หวายจะสุกพอดีไม่น้อยไปหรือมากไป  จากนั้นแกะเปลือกออกนำแกนหวายไปอบ ด้วยเครื่องอบไฟฟ้าแบ่งเป็น 2 ช่วง รวมระยะเวลา 9 ชม.ช่วงแรก 5 ชม. อุณหภูมิประมาณ 60 องศา นำออกมาผึ่งลมแล้วนำกลับเข้าไปอบต่ออีก 4 ชม. หวายจะแห้งพอดีแพ็คในถุงสูญญากาศ  เก็บได้นานแรมปี

หวาย หากจะนำออกมาปรุงอาหารก็เพียงแกะถุงนำมาแช่น้ำประมาณ 1 ชม. แล้วแต่ความชอบของผู้รับประทานว่าต้องการอ่อนหรือแข็ง  หวายอบแห้งเมื่อแช่น้ำจะคืนเป็นหวายต้มคงสภาพเดิม รสชาติก็ยังคงขมอร่อยเหมือนเดิม สารอาหารครบถ้วน ต้นทุนตู้อบราคา 50,000 บาท

เมล็ดหวาย

หากใครสนใจซื้อต้นกล้าหวาย หวายสด หรือหวายแห้ง หรือต้องการมาศึกษาเรียนรู้ข้อมูลขั้นตอนการเพาะปลูก หวายตั้งแต่การเพาะกล้า การดูแลเลี้ยงดู การเก็บเกี่ยวผลผลิตและการแปรรูป สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ 080-9024101 หรือเพจเฟซบุ๊ก ปลูกหวาย ไว้ขายหน่อ

ข่าวจังหวัดสกลนคร <<คลิก

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of อภิชาติ ชาไชย

อภิชาติ ชาไชย

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสกลนคร อีเมล [email protected]