X
ศาสตร์พระราชา

สามัคคี!ชาวบ้านนับร้อยช่วยกันขุดดินลูกรัง น้อมนำ”ศาสตร์พระราชา”สู้ภัยแล้ง!!

สกลนคร-เกษตรกรชาวสว่างแดนดิน น้อมนำปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง “ศาสตร์พระราชา” มาประยุกต์ใช้ พลิกฟื้นผืนดินอันแห้งแล้ง แตกระแหง กลายเป็นแปลงสาธิตเกษตรผสมผสาน คันนาทอง ปราศจากสารเคมี  สร้างรายได้ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชนบท  

หากถามว่าความสามัคคี การร่วมแรงร่วมใจ รวมใจเป็นหนึ่ง เพื่อสู้กับภัยแล้งนั้น  หน้าตาเป็นยังไง ต้องไปดูที่แปลงศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน นายไกรวรรณ์ อัครกุล หมู่บ้านชุมพล หมู่ที่ 4 ตำบลค้อใต้ อำเภอสว่างแดนดิน  จ.สกลนคร ท่านจะเห็นภาพชาวบ้านชุมพล ร่วมร้อยคนแบ่งงานกันทำ น้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้

รับผิดชอบหน้าที่ของตน ขาดเหลือก็ไหว้วานขอแรงกัน กลุ่มแรกจับเสียมขุดดินในพื้นที่แปลงนา ที่แข็งดังหิน ด้วยความเพียรพยายาม  แม่บ้าน ย่า-ยาย ก็หุงหาอาหาร ข้าวเหนียว ตำส้มตำ คั่วแมงจีซอน แกงปลา แกงหน่อไม้ ฯ  ถือเป็นอาหารมื้อเที่ยง สุดหรูของคนอีสาน  อร่อยและให้พลังงานตบท้ายด้วยน้ำเย็นในกระติก พร้อมลุยงานต่อในภาคบ่าย

ด้วยแปลงสาธิตอยู่ท้ายหมู่บ้านชายป่าไกลชุมชน เมื่อไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงก็ไม่ใช่ปัญหา ฝ่ายช่างก็นำเครื่องปั่นไฟ และเครื่องจักร มาเชื่อมและตัดเหล็ก เพื่อก่อสร้างเป็นอาคารอเนกประสงค์ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีสถานีพัฒนาที่ดินสกลนครให้การสนับสนุน เปิดกว้างเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรทุกคนที่สนใจมาศึกษา หยาดเหงื่อชาวบ้านไหลผ่านรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ  สะท้อนถึงความรักสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชนบ้านชุมพลได้เป็นอย่างดี

นายไกรวรรณ์ อัครกุล หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านชุมพล หมู่ที่ 4 ตำบลค้อใต้ อำเภอสว่างแดนดิน  คนนครศรีธรรมราช เขยสกลนคร กล่าวว่า ผมเลี้ยงปลากินพืช 1 บ่อ ปลากินเนื้อ 1 บ่อ มีคอกหมู และไก่  ทำเกษตรผสมผสาน  น้อมนำคำสอนของพ่อหลวง  ศาสตร์พระราชา มาประยุกต์ใช้  ทำเป็นศูนย์การศึกษาเรียนรู้ ด้านการเกษตร โดยมีสถานีพัฒนาที่ดินสกลนครเข้ามาส่งเสริม

นายไกรวรรณ์ อัครกุล หมอดินอาสา และภรรยา

ใช้เวลา 4 ปี พลิกฟื้นผืนดินที่แห้ง แตกระแหง สู้กับภัยแล้งในห้วงเดือน มี.ค.-พ.ค. กลับมาเขียวขจี เกษตรผสมผสาน คือ ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์หลายชนิดอยู่ในพื้นที่เดียวกัน การใช้ประโยชน์จากพืชชนิดหนึ่ง หรือสัตว์มาเกื้อกูลกัน เช่น การนำกาบต้นกล้วยมาบดทำปุ๋ย การทำน้ำหมักชีวภาพจากสิ่งปฏิกูล การนำมูลหมู-ไก่ ไปทำปุ๋ยใส่ต้นกล้วย การนำต้นกล้วยมาบด กับเศษผัก ผสมกับรำจากข้าวมาเป็นอาหารหมู เป็นต้น

เริ่มต้นจากเกษตรพอกินพอใช้ เหลือก็แบ่งขาย ไปสู่เกษตรผสมผสานแบบครบวงจร หากมีการบริหารจัดการที่ดี  น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ก็จะสร้างรายได้อย่างงาม โดยยึดหลักการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ปฏิเสธการใช้สารเคมี พึ่งธรรมชาติลดมลพิษ

เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชนบท เมื่อชาวบ้าน-เกษตรกรมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวแล้ว ก็ไม่ต้องเดินทางไปทำงานในภาคกลาง ย่านนิคมอุตสาหกรรม ครอบครัวอบอุ่น อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ต้นเหตุนั้นก็คือการสร้างรั้วครอบครัวที่เข้มแข็งและอบอุ่น

นายไกรวรรณ์ อัครกุล กล่าวต่อว่า ในเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ ตนปลูกยางพารา 7 ไร่ มะนาว 400 ต้น กล้วย 500 ต้น มะม่วง น้อยหน่า เงาะ สะตอ พืชแทบจะทุกชนิด ปลูกกระจายตามพื้นที่ คละกันไป รอบสระปลูกหญ้าแฝกป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ระยะยาวหรือการได้เงินบำนาญคือต้นไม้ยืนต้น อาทิ ยางนา ตะเคียน โดยจดทะเบียนอาชีพสวนป่า ผมปลูกอยู่ 2,000 ต้น  วันที่ผมแก่ชราไม้พวกนี้จะเป็นสินทรัพย์ในผืนดิน  เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินในอนาคต ผมสามารถนำมาขายซึ่งจะมีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านบาท

นายสมาน ก้อนศรีษะ เจ้าพนักงานการเกษตรอาวุโส สถานีพัฒนาที่ดินสกลนคร

นายสมาน ก้อนศรีษะ เจ้าพนักงานการเกษตรอาวุโส กล่าวว่า โครงการปรับเปลี่ยนที่นาไม่เหมาะสม เกษตรผสมผสาน น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชา มาประยุกต์ใช้ เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เกษตรกร สร้างเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ ปลูกทุกอย่างที่กินได้  เริ่มจากสมาชิกเพียง 9 ราย  ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 50 ราย

พืชหลักๆ จะเป็นกล้วย และไม้ผลต่างๆ มีการใช้หญ้าแฝกในการคลุมดินเพื่อความชุ่มชื้น รากของหญ้าแฝกหยั่งลึกลงไปในดินช่วยเก็บกักน้ำได้เป็นอย่างดี พี่น้องเกษตรที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ฟรี ที่บ้านชุมพล หมู่ที่ 4 ตำบลค้อใต้ อำเภอสว่างแดนดิน จ.สกลนคร หรือประสานผ่านสถานีพัฒนาที่ดินสกลนคร เบอร์  042-099893

>>>ข่าวจังหวัดสกลนคร 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of อภิชาติ ชาไชย

อภิชาติ ชาไชย

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสกลนคร อีเมล [email protected]