สกลนคร-ผู้ไทห้วยหีบ ร่วมใจสืบสานประเพณีสงกรานต์ท้องถิ่นโบราณ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ โชว์อัตลักษณ์ความเป็นผู้ไท ชิมอาหารพื้นบ้าน สนุกสนานและสามัคคี
อำเภอโคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร จัดงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ ผู้ไทห้วยหีบ ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2561 ขอพรหลวงพ่อสิมน้อย ตามรอยหีบโบราณ เท่ว(ภาษาผู้ไท เที่ยว)งานสงกรานต์ห้วยหีบ ซึ่งชาวผู้ไทห้วยหีบร่วมใจกันจัดงานติดต่อกันมาเป็นประจำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี สะท้อนถึงความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านห้วยหีบ
ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าผู้ไท มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ขยันทำมาหากิน การแต่งตัวที่เป็นเอกลักษณ์ ภาษาผู้ไทที่ไพเราะเสนาะหู มีอาหารและขนมพื้นบ้านที่อร่อยและน่ารับประทาน มีอัธยาศัยดี สนุกสนามและยิ้มแย้ม ปัจจุบันพบว่าบ้านห้วยหีบได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของอำเภอโคกศรีสุพรรณ เป็นชุมชนชาวผู้ไทที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่งของประเทศ
โดยวันนี้นายเอกภพ โสภณ นายอำเภอโคกศรีสุพรรณ ได้นำชาวผู้ไทห้วยหีบทั้ง 15 คุ้ม ร่วมขบวนแห่สงกรานต์ สืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทยโบราณ อัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อสิมน้อย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน แห่รอบชุมชน ให้ชาวบ้านได้สรงน้ำ สักการะขอพร โดยมีประชาชนชาวห้วยหีบและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานกว่าหมื่นคน
โดยแต่ละคุ้มจะจัดซุ้มโชว์ศิลปวัฒนธรรมของคนผู้ไท อาทิ การแต่งงานแบบผู้ไท การจำลองบ้านทรงโบราณและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ โชว์อาหารและขนมพื้นบ้าน อาทิเช่น ข้าวหวานแสนอร่อยในถ้วยที่ทำด้วยกะโป๊ะ(กะลามะพร้าว) แจ่วบองรสเด็ด ส้มตำปลาร้านัว แกงหน่อไม้รสชาติแบบผู้ไทแท้ ฯ
นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับกับธรรมชาติ บ้านเรือน ป่าเขา ทุ่งนา หนองน้ำ อาหารการกิน สัมผัสวิถีชีวิตคนพื้นบ้านชนเผ่าผู้ไท ซึ่งถือเป็นการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม ย้อนมองชีวิตของชุมชนชนบทที่อยู่อย่างพอเพียง มีความใกล้ชิดและสามัคคี
สำหรับกิจกรรมประกอบด้วย กิจกรรมพาแลง ขับกล่อมด้วยดนตรีโปงลางพื้นบ้าน การฟ้อนรำผู้ไท โชว์แต่งงานตามแบบวัฒนธรรมผู้ไทโบราณ ฟังเทศน์บุญมหาชาติ ที่วัดป่าบ้านห้วยหีบ โดยวันที่ 15 เม.ย.นี้ จะมีนักร้องชาววานรนิวาส ขวัญใจคนสกลนคร ก้องห้วยไร่ มาร่วมทำบุญไปพร้อมกับชาวผู้ไทห้วยหีบอีกด้วย
ภาษาผู้ไท (เขียน ผู้ไทย หรือ ภูไท ก็มี) เป็นภาษาในตระกูลภาษาไท-กะได มีผู้พูดจำนวนไม่น้อย กระจัดกระจายในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยและลาว เข้าใจว่า ผู้พูดภาษาผู้ไทมีถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมอยู่ในเมือง นาน้อยอ้อยหนู ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า เมืองนาน้อยอ้อยหนู อันเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของผู้ไทอยู่ทีไหน เพราะปัจจุบันมีเมืองนาน้อยอ้อยหนูอยู่ถึงสามแห่ง ตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองแถงหรือปัจจุบันคือจังหวัดเดียนเบียนฟู แห่งที่สองอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองแถง และแห่งที่สามอยู่ห่างจากเมืองลอของเวียดนามประมาณ 10 กิโลเมตร
ชาวไทดำกับผู้ไทเป็นคนละชาติพันธุ์กัน นักภาษาศาสตร์สันนิษฐานว่า อพยพแยกจากกันนานกว่า 1,500 ปีมาแล้ว ในปัจจุบัน มีการจัดให้ภาษาผู้ไทเป็นกลุ่มย่อยของภาษาไทดำซึ่งไม่ถูกต้อง ผู้ไทอพยพจากนาน้อยอ้อยหนูไปอยู่ที่เมืองวังอ่างคำ ซึ่งคือเมืองวีระบุรี ในแขวงสุวรรณเขต ประเทศลาวก่อนถูกกวาดต้อนมาอยู่ในดินแดนประเทศไทยเมื่อไม่ถึง 200 ปีมานี้ ผู้ไทที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงมีจำนวนไม่น้อย แต่ผู้ไทซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแถบแขวงสุวรรณเขตและแขวงคำม่วนในลาว ก็ยังมีประปราย มักจะเรียกผู้ไททั้งสองกลุ่มนี้รวม ๆ กันว่า “ผู้ไทสองฝั่งโขง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“กิ๋นข้าวโฮ่มพา กิ๋นปลาโฮ่มหนอง”นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด ผู้ไทห้วยหีบ!
“บุญข้าวจี่” โชว์อัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ของดีอำเภอโคกศรีสุพรรณ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: