สกลนคร-สหกรณ์การเกษตรพรรณานิคม ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน ทุ่มงบประมาณกว่า 3 ล้าน จัดโครงการผลิตพืชผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดภัย ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ พัฒนาคุณภาพผักมาตรฐานสากล ขยายโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย
สหกรณ์ มีกว่าหมื่นแห่งทั่วประเทศ มีสมาชิกมากกว่าสิบล้านคน โดยสหกรณ์ที่มีสัดส่วนมากเกินกว่าครึ่ง คือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของผู้มีอาชีพเกษตรกร มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ปากท้อง ยกระดับฐานะความเป็นอยู่ และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของมวลสมาชิก
ที่สหกรณ์การเกษตรพรรณานิคม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ชมรมผู้สื่อข่าวจังหวัดสกลนคร นำโดยนายวัฒนะ แก้วก่า ลงพื้นที่ร่วมประชาสัมพันธ์ กิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน 1 หอการค้า 1 สหกรณ์ โครงการผลิตพืชผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดภัย ซึ่งสหกรณ์การเกษตรพรรณานิคม ได้เล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพประชาชน รวมถึงปัญหามลภาวะ และสิ่งเจือปนในอาหาร อันจะส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง
สหกรณ์การเกษตรพรรณานิคม ได้มีมติให้ดำเนินการโครงการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งจุดแข็งของผักชนิดนี้คือผลผลิตที่สะอาดกว่าการปลูกในดิน ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง น้ำที่ใช้รดและหมุนเวียนในรางน้ำเป็นน้ำดื่ม RO ที่สะอาด ทำงานโดยระบบอัตโนมัติ ปลูกในโรงเรือนที่มีการควบคุมอุณหภูมิและมลพิษทุกชนิด ผักที่ได้มีความสวยงามน่ารับประทาน ผักมีรสชาติดี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีความนุ่มและกรอบกว่าผักที่ปลูกในดิน
ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพจึงต้องแลกกับต้นทุนที่สูง ในการก่อสร้างโรงเรือน ระบบผลิตน้ำ และอื่นๆ รวมกว่า 3 ล้านบาท โดยคุณพัทธนันท์ เศรษฐกุลสิทธิ์ ผู้จัดการสหกรณ์ มองว่าในระยะยาวถือว่าคุ้มค่ามาก เมื่อแลกกับสุขภาพประชาชน รวมถึงมวลสมาชิกที่จะได้รับประทานผักปลอดสารพิษคุณภาพสูง ในราคาที่สมเหตุสมผล สามารถขายให้กับตลาดระดับกลางไปถึงสูง วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าชั้นนำ หรือแม้กระทั้งการส่งออกต่างประเทศในอนาคต
น้ำที่ใช้ทั้งหมดในการเพาะปลูก รวมถึงระบบฉีดน้ำเพื่อควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม เป็นน้ำดื่ม Reverse osmosis (RO) ซึ่งเป็นระบบกรองน้ำมีความบริสุทธิ์สูง หรือมีคุณภาพเทียบเท่าน้ำกลั่น มีระบบผสมสารอาหารอัตโนมัติไหลเวียนเข้าสู่ระบบโรงเรือนและรางน้ำ ดังนั้นผักที่ได้จะสะอาดมากไม่มีสารพิษตกค้าง ผักที่นิยมปลูก อาทิ เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค มีกำลังผลิต 1,500 ต้น/สัปดาห์ หรือประมาณ 80-100 กก./สัปดาห์
ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นโครงการ ซึ่งในอนาคตจะต้องรักษามาตรฐานและพัฒนาต่อไป ควบคู่กับทำการตลาด เปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร สามารถเข้าศึกษาดูงานได้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและโฮมสเตย์ โดยมีหอการค้าไทย ในการให้ความรู้ด้านมาตรฐานสินค้า ThaiGAP เสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก พร้อมขยายโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยต่อไป
ข่าวที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่? จ.สกลนครปลูก “หวาย” ตัดหน่อเยอะสุดในประเทศ เผยหวายอบแห้งผลิตไม่พอส่งออก!!
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: