อาชีพ เผาถ่าน หลายคนอาจมองว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้น้อย ลำบาก เหน็ดเหนื่อย ร้อน มีรายได้ไม่พอจุนเจือครอบครัว หากคิดเช่นนั้นถือว่าคิดผิด เมื่อได้มาคุยกับเกษตรกรหนุ่มไฟแรง ชาว อ.วานรนิวาส ที่ทิ้งงานประจำ หันมาลุยงานเกษตรอย่างเต็มตัว ปลูกไผ่กิมซุง ยึดอาชีพเผาถ่าน ที่ผ่านการพัฒนาคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด ไร้ควัน ไฟแรงกล้า อยู่ได้นาน ไม่แตกสะเก็ดไฟเป๊าะแป๊ะให้เป็นที่รำคาญ
นายองอาจ ประจันทะศรี หรืออุ้ม อายุ 35 ปี ชาว บ.โนนสำราญ ต.อินทร์แปลง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เจ้าของสวนไร่น้ำหนึ่ง กมลภพ เป็นอีกหนึ่งเกษตกรตัวอย่างหลังจากผันชีวิต จาก จนท.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หันมาเป็นเกษตรผสมผสาน และเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารพิษ ในเนื้อที่ 11 ไร่ ปลูกพืชนานาชนิดทั้งพืชระยะสั้น กลาง และยาว เช่น กล้วยหอมทอง ขายหน่อไผ่ หญ้าหวาน ชะอม พืชผักสวนครัว เรียกได้ว่าแทบทุกชนิดที่สามารถทำเงินได้
สวนแห่งนี้เพาะพันธุ์หน่อไม้เลี้ยง และไผ่กิมซุง เมื่อไผ่อายุได้ 1 ปี เวลาจำหน่าย จะตัดเฉพาะโคนของหน่อไผ่ขาย จึงทำให้เหลือยอดไผ่ นำไปทิ้งอย่างเปล่าประโยชน์ อุ้ม จึงนั่งครุ่นคิดว่าเศษไม้ไผ่ที่เหลือจะทำอะไรได้บ้าง สุดท้ายได้น้องๆที่รู้จักมาช่วยกันคิด เลยปิ๊งไอเดีย คนเอาถ่าน คือทำเป็นถ่านอัดแท่งขาย
จากนั้นมีการทดลอง ลองแล้วลองอีก จนได้สูตรถ่านอัดแท่งนี้ขึ้นมา คือ เป็นถ่านที่มีคุณภาพสูง ไร้ควัน ไฟแรงกล้า อยู่ได้นาน ขั้นตอนนำไม้ไผ่ที่ยังไม้แห้งสนิทมาเผาก่อน โดยเตาดินธรรมดาแบบโบราณ หมั่นควบคุมอุญหภูมิไฟให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จากนั้นนำไผ่ที่เป็นถ่านออกมาผึ่งลมให้เย็น จากนั้นนำไปบดให้ละเอียด ผสมสูตรเด็ดของสวนลงไป ซึ่งขอสงวนไว้ จากนั้นนำไปเข้าเครื่องบดอัดออกมาเป็นแท่ง แล้วแบ่งตามขนาดประมาณ 15 เซนติเมตร นำไปตากแดด เมื่อแห้งแล้วก็พร้อมบรรจุถุงขาย
นายองอาจ ประจันทะศรี กล่าวว่า คนเผาถ่านมักนิยมนำไม้จากธรรมชาติ มาเผา ซึ่งอาจเป็นการส่งเสริมการทำลายป่า เกษตรกรหลังปลูกไผ่ขายแล้วยอดไผ่ที่เหลือยังสามารถนำไปทำถ่านอัดแท่งขายได้ จากขยะกลายเป็นเงิน เป็นการสร้างรายได้แบบครบวงจร และยังเป็นการรักษาป่าชุมชนทางอ้อมอีกด้วย
สำหรับคุณสมบัติถ่านของตน จะร้อนนาน อุณหภูมิสม่ำเสมอ ไร้ควัน ไร้สารอันตราย ถ่านเรามีหลายแพคเกจให้เลือก ต้องการถ่านไปปิ้งย่าง หรือหุงต้ม ก็จะผลิตแตกต่างกันออกไป ตามสูตร ถ่านอัดแท่ง 1 ถุงประมาณ 7-8 ก้อน นำไปย่างปลาน้ำหนัก 1 กิโลกรัม สุกได้ถึง 3 ตัว
ด้านนายรวยรุ่ง ใครบุตร นายอำเภอวานรนิวาส กล่าวว่า ตนชื่นชมและมองเห็นประโยชน์จากแนวคิดของไร่แห่งนี้นอกจากจะนำเอาศาสตร์พระราชามาปรับใช้แบบเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังทำประโยชน์ในพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยการทำเกษตรผสมผสาน
มีรายได้พออยู่พอกิน นำเศษไผ่ที่ไม่ใช้ทำเป็นถ่านอัดแท่งจำหน่ายเพิ่มรายอีกทาง ผมยังส่งเสริมให้ไร่แห่งนี้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการทำเกษตรผสมผสาน
เกษตรกรผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาแนวทางในการทำอาชีพ สามารถเข้าโครงการฝึกอบรมการฝึกวิชาชีพจากไม่ไผ่ ในวันที่ 20 พ.ค.61 นี้ ที่ไร่น้ำหนึ่งกมลภพ โดยอำเภอวานรนิวาสจะลงมาส่งเสริม ทั้งการประชาสัมพันธ์ และตลาดรองรับ จึงอยากให้ชาวสกลนครหรือท่านอื่นๆมาอุดหนุนถ่านอัดแท่งแห่งนี้เพื่อต่อยอดสร้างรายได้ไปสู่ชุมชนต่อไป
สนใจติดต่อซื้อถ่าน นายองอาจ หรือ อุ้มโทร 084-418-9436
>>>ข่าวจังหวัดสกลนคร
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: