นายกฯแพทองธาร เกาะติดแผนฟื้นฟูน้ำท่วมสั่งการกลางวง ครม. หากต้องเพิ่มเติมเยียวยาตรงไหนให้รีบส่ง ศปช.ขออนุมัติ ด่วน พร้อมสั่งการฟื้นฟูระยะต่อไป หน่วยราชการในพื้นที่ต้องทำต่อเนื่องเพื่อรับท่องเที่ยวไทยแลนด์วินเทอร์
วันนี้ (29 ตุลาคม พ.ศ. 2567) เวลา 14.00 นนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการต่อ ครม.ว่า “ให้ทุกส่วนราชการเร่งพิจารณา มาตรการช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม โดยให้ส่งเรื่องที่นอกเหนือจากที่ ครม. เคยอนุมัติช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย ในทุกภาคของประเทศไปแล้วให้นำมารวมที่ ศปช.โดยเร็ว เพื่อรวบรวมและกลั่นกรองก่อนนำมาเสนอต่อ ครม.
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับให้ส่วนราชการในพื้นที่ อ.แม่สาย และอำเภออื่น ๆ ยังคงต้องดำเนินการฟื้นฟูในระยะต่อไปอย่างต่อเนื่อง แม้ ศปช.ส่วนหน้าจะส่งมอบพื้นที่ไปแล้วก็ตาม เพื่อให้การเข้าสู่หน้าท่องเที่ยวในหลายพื้นที่เป็นไปอย่างคึกคักตามนโยบายรัฐบาล” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ส่วนสถานการณ์น้ำ นายจิรายุ โฆษก ศปช.กล่าวว่า ในปัจุบัน แม้หลายจังหวัดจะเข้าสู่หน้าหนาวแล้ว แต่ยังมีฝนและยังต้องติดตามการบริหารน้ำอย่างใกล้ชิด โดยกรมชลประทานได้รายงานน้ำ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ว่าขณะนี้ยังควบคุมการระบายน้ำต่อเนื่องอยู่ที่อัตรา 1,699 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนทรงตัว ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำที่บริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง // ส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ คลองบางบาล และแม่น้ำน้อย ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา , ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ มีระดับน้ำลดลง
ขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานต่อ ศปช.ว่าได้แจ้งเตือนการเฝ้าระวัง ในวันพรุ่งนี้ (พุธ-พฤหัสฯที่ 30 -31 ตุลาคม) จะมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมบริเวณทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยจากฝนตกสะสมช่วงดังกล่าวจากปริมาณฝนสะสมมากกว่า 200 มิลลิเมตร ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน และหนองหญ้าปล้อง // จ. ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณ อ.ปราณบุรี และหัวหิน ส่วนที่ภาคใต้ยังมีต้องเฝ้าระวังฝนที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
“ศปช. ขอเตือนให้ ประชาชน ยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น โดยสั่งการให้ กรมชลประทานในพื้นที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด”
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการฟื้นฟูหลังสถานกาณ์อุทกภัย ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่โบราณสถาน วัดกู่ป้าด้อม โบราณสถานเวียงกุมกาม ที่ถูกน้ำท่วมขังนานนับเดือนนั้นล่าสุด นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แจ้ง ศปช.ว่า สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ร่วมกับ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกลเพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังภายในโบราณสถานดังกล่าวแล้ว โดยขั้นตอนต่อไป การอนุรักษ์และฟื้นฟูจะดำเนินการคลุมลวดลายปูนปั้นด้วยผ้าที่มีเส้นใยลักษณะหนาและมีความนุ่ม เพื่อรักษาความสมดุลของอุณหภูมิของลวดลายปูนปั้นกับสภาพภูมิอากาศ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อลวดลายปูนปั้น เพื่อฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพที่ดีที่สุด ต่อไป
“รัฐบาลให้ความสำคัญในการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะโบราณสถานต่าง ๆ ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการฟื้นฟู และรักษาเอาไว้ให้กลับมาคงสภาพที่ดีที่สุด เพราะด้วยคุณค่าทางศิลปะวัฒนธรรมนั้นประเมินค่ามิได้ เป็น Soft Power ที่เพิ่มเสน่ห์ เสริมภาคการท่องเที่ยวอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น การฟื้นฟูจึงต้องคำนึงถึงทุกความเกี่ยวข้องที่ส่งเสริมกัน” นายจิรายุ กล่าว
ขณะที่การบริหารจัดการขยะจากสถานการณ์อุกทภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 42,000 ตันนั้น นายจิรายุ กล่าวว่า นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงาน ศปช.ว่า ทุกภาคส่วน ช่วยกันระดมทำความสะอาด พร้อมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท.จ้างเอกชนเข้ามาจัดการคัดแยกและกำจัด รวมถึงนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ส่วนที่เหลือจะทำการฝั่งกลบ
ส่วนถุงทรายจะนำไปให้ประชาชนใช้ประโยชน์ และส่วนเกินจะนำไปกำจัด ส่วนถุงทรายจำนวน 1 ล้านใบนั้น อยู่ที่เทศบาลนครเชียงใหม่ 400,000 ใบ เก็บออกแล้วไปแล้ว 74% ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ นอกเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 84,533 ใบ เก็บออกแล้ว 100% และที่อำเภอสารภี 427,700 ใบ เก็บออก 100% แล้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: