หนุ่มโคราชยื่นร้อง กกต.นครราชสีมา ตรวจสอบนางยลดา หวังศุภกิจโกศล หรือ “เจ๊หน่อย” ผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย และกลุ่มผู้สมัคร ส.อบจ.อีก 35 คน กรณีโอนงบประมาณกว่า 23 ล้านบาทโดยมิชอบ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งและเสี่ยงถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งหรือ “ใบแดง”
เมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา ตำบลจอหอ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายสุนทร ชาวอำเภอเมือง ได้เดินทางเข้าพบนายสุรพงษ์ ทิพย์โอสถ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อยื่นเรื่องร้องขอให้ตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งของนางยลดา หวังศุภกิจโกศล หรือ “หน่อย” ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา หมายเลข 2 จากพรรคเพื่อไทย และกลุ่มผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.อีก 35 คน
นายสุนทรเปิดเผยว่า เขาเดินทางมาในฐานะประชาชนชาวโคราชคนหนึ่ง ซึ่งมีสิทธิเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภา อบจ.ในพื้นที่ โดยต้องการเห็นกระบวนการเลือกตั้งที่สุจริต โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ เขาจึงเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครในครั้งนี้
ข่าวน่าสนใจ:
- อบจ.สุราษฎร์ ฯ พร้อมเป็นเจ้าภาพแข่งขันกีฬานักเรียน “อปท.”รอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ “เมืองคนดีเกมส์”
- นครพนม จัดกิจกรรมปั่นจักรยานชายโขงทุกวันอาทิตย์ ส่งเสริมการปั่นจักรยานออกกำลังกาย กระตุ้นให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
- แข็งหวานประสานท้าย ดับคู่ส่งท้าย 10 วันอันตรายแปดริ้ว
- คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ติดตามการบริหารงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ของ อปท.ใน จ.ระยอง
นายสุนทรระบุว่า เรื่องที่ร้องเรียนเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของนางยลดา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.นครราชสีมาในสมัยที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ในการประชุมสภา อบจ.นครราชสีมา สมัยสามัญที่ 2 ครั้งที่ 3 ซึ่งมีการยื่นญัตติขออนุมัติโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ไปตั้งจ่ายเป็นรายการใหม่ การประชุมดังกล่าวมีสมาชิกสภา อบจ.เข้าร่วมทั้งหมด 39 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้ยกมือเห็นชอบตามที่นางยลดาเสนอญัตติรวม 36 คน ซึ่งรวมถึงตัวนายก อบจ.เอง ขณะที่อีก 3 คนเลือกที่จะงดออกเสียง
นายสุนทรย้ำว่า การกระทำดังกล่าวอาจมีผลต่อคุณสมบัติและความโปร่งใสของผู้สมัคร เขาจึงร้องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมาดำเนินการตรวจสอบ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมาย และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่
นายสุนทรกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 (และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 รวมทั้งสิ้น 12 โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 23,873,918 บาท เนื่องจากในห้วงระยะเวลาดังกล่าวไม่มีภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติแต่อย่างใด
ต่อมา นางยลดาได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายก อบจ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 พร้อมกับสมาชิกสภา อบจ.ในกลุ่มอีก 15 คน ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ในการเลือกตั้งครั้งนี้
ทั้งนี้ การกระทำของนางยลดาและกลุ่มสมาชิก อบจ.ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการดังกล่าว อาจเข้าข่ายการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มาตรา 65 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 126 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน
หากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดจริง ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจถูกลงโทษถึงขั้นถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง หรือที่เรียกกันว่า “ใบแดง” ได้ นายสุนทรจึงยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้เร่งตรวจสอบกรณีดังกล่าว เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการเลือกตั้งนายก อบจ.และสมาชิกสภา อบจ.นครราชสีมา ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้
ด้านนายสุรพงษ์ ทิพย์โอสถ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ภายหลังการเปิดรับสมัครเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 23-27 ธันวาคม 2567 มีผู้สมัครนายก อบจ.รวม 4 คน ได้แก่ เบอร์ 1 นายทักษิณ เขื่อนโคกสูง, เบอร์ 2 นางยลดา หวังศุภกิจโกศล, เบอร์ 3 นายมารุต ชุ่มขุนทด และเบอร์ 4 ร.ต.อ.นิติรักษ์ ฟักกระโทก
สำหรับผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.นครราชสีมา ครบทั้ง 48 เขตจาก 32 อำเภอ มีจำนวนทั้งสิ้น 153 คน โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำ อบจ.นครราชสีมา ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ผลการตรวจสอบพบว่าผู้สมัครนายก อบจ.ทั้ง 4 คน มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งหมด
ในส่วนของการร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง พบว่ามีการร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นกรณีผู้สมัครร้องเรียนพฤติกรรมของผู้สมัครรายอื่น ซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน เพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงในพื้นที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดตั้งชุดสืบสวนข่าวจำนวน 3 ชุด และชุดเคลื่อนที่เร็วอีก 6 ชุด โดยทำงานร่วมกับผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 8 คน เพื่อเฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสี่ยง หากพบเบาะแสที่อาจนำไปสู่เหตุรุนแรง จะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ทันที ซึ่งการลงพื้นที่สอดส่องได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา
นายสุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.จำนวน 153 คน พบว่ามีผู้ขาดคุณสมบัติ 3 คน ได้แก่ ผู้สมัครในเขต 2 อำเภอสีคิ้ว, เขต 1 อำเภอจักราช และเขต 1 อำเภอชุมพวง โดยสาเหตุที่ทำให้ขาดคุณสมบัติคือ ผู้สมัครทั้ง 3 รายไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งซ่อมเทศบาล ส่งผลให้หมดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: