ที่ แม่น้ำสามประสบ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ประธานในพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วย นางรชยา ภูมิสวัสดิ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดกาญจนบุรี นายสมเจตน์ จงศุภวิศาลกิจ นายสมยศ ศิลปีโยดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี พลตรีฐกัด หลอดศิริ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๙ พลตรีวสุ เจียมสุข ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๑๗ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และประชาชน เข้าร่วมพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีได้เปิดกรวยกระทงดอกไม้บนธูปเทียนแพ ถวายความเคารพเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นได้ไปประกอบพิธีบวงสรวงบูชาเทพยดา เทพารักษ์ ผู้ดูแลรักษาสถานที่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีอ่านคาถาพลีกรรมตักน้ำ ต่อจากนั้นได้เชิญขันน้ำสาครและที่ตักน้ำไปยังแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์
ข่าวน่าสนใจ:
จนถึงฤกษ์เวลา 11.52 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ใส่ขันสาคร เสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ปิดฝาขันน้ำสาคร ห่อด้วยผ้าขาว ผูกริ้บบิ้นสีขาว จากนั้นได้อัญเชิญขันน้ำสาครและที่ตักน้ำโดยเรือ พร้อมขบวนเรือ 68 ลำจากชมรมชาวเรืออำเภอสังขละบุรี แห่น้ำศักดิ์สิทธิ์มาขึ้นยังท่าแพอุทยานเขาแหลม
และเคลื่อนย้ายขบวนแห่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ไปตามสะพานอุตตมานุสรณ์ และแห่รอบอำเภอสังขละบุรี โดยประชาชนชาวอำเภอสังขละบุรี ร่วมต้อนรับขันน้ำสาครที่บรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นได้เคลื่อนขบวนออกจากอำเภอสังขละบุรี มายังอำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค และอำเภอเมืองจังหวัดกาญจนบุรี
สำหรับแม่น้ำสามประสบ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดกาญจนบุรี เป็นจุดที่มีแม่น้ำสามสายมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำซองกาเรีย มีต้นกำเนิดในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวกะเหรี่ยงใหญ่เคารพนับถือ แม่น้ำบีคลี่ มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรี เป็นเทือกเขาสำคัญที่ใช้เป็นสันปันน้ำกันเขตแดนไทย-เมียนมา แม่น้ำรันตี มีต้นกำเนิดจากยอดเขาไถ่ผะ ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดใน จังหวัดกาญจนบุรี ระดับความสูง 1,830 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
นอกจากนี้บริเวณแม่น้ำสามประสบ ยังได้รับการขนานนามว่าเป็นพื้นที่”มหาชัย”มีที่มาจากเหตุการณ์รบครั้งสำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งทัพพม่าแตกพ่ายในศึกสงครามเก้าทัพแล้ว ไม่นานนักฝ่ายพระเจ้าปดุงและพระมหาอุปราชได้ยกทัพใหญ่มีกำลัง 50,000 นาย กลับมาทางด่านเจดีย์สามองค์
ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงกรีฑาทัพไปรบพม่าที่ท่าดินแดง พ.ศ. 2329 โดยให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และเจ้าพระยารัตนพิพิธ เป็นทัพหน้าและพระองค์เป็นทัพหลวง เข้าตีทัพของพระเจ้าปดุงและพระมหาอุปราชที่ท่าดินแดงและสามประสบแตกพ่าย ฝ่ายพระเจ้าปดุงจึงถอยทัพกลับทางแม่น้ำรันตี และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาดินแดนไทยก็สุขสงบร่มเย็นจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งแหล่งน้ำแห่งนี้มีสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดกาญจนบุรี โดยเมื่อปี 2550 และ 2554 จังหวัดกาญจนบุรีก็ได้เลือกแม่น้ำแห่งนี้มาใช้ในการประกอบพิธีเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: