ประมงจังหวัดสิงห์บุรี เตือนอากาศหนาว ลางร้ายเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา
ประมงจังหวัดสิงห์บุรี นายประดิษฐ์ ศรีภัทรประสิทธิ์ ได้ออกมาเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำว่า ช่วงที่สภาพอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงจากปลายฝน เข้าสู่ฤดูหนาวจะมีผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพของสัตว์ น้ำที่จะมีโรคระบาด ในช่วงหน้าหนาว และจะสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทั้งในกระชังและบ่อดินต้องระวัง เนื่องจากเกษตรกรหันมาเลี้ยงปลาตามแม่น้ำ ลำคลอง และบ่อดินจำนวนมาก โดยเฉพาะปลานิล ปลาทับทิม และปลาอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี ในแต่ละปีเกษตรกรจประสบปัญหาปลาตาย เสียหายบ้างตามความรุนแรงของภาวะอากาศหนาว ประมงจังหวัดสิงห์บุรี ได้สะท้อนถึงปัญหาการเลี้ยงปลาทั้งในกระชัง และในบ่อ ช่วงอากาศหนาวว่า เป็นช่วงที่มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำเป็นอย่างมาก เพราะปลาจะกินอาหารน้อยลง สภาพร่างกายจึงอ่อนแอ หากให้อาหารมากเมื่อปลากินไม่หมดก็จะเกิดเป็นกรด แก๊ส น้ำขุ่น และเกิดแบคทีเรียในน้ำ ทำให้ปลาเกิดโรคได้ง่าย
สำหรับโรคปลาที่จะเกิดขึ้นในช่วงหน้าหนาว อาทิ โรคตัวด่าง หรือคอลัมนาริส เกิดใน ปลาดุก ปลาช่อน ปลาบู่ และปลาสวยงามอีกหลายชนิด ปลาที่เป็นโรคนี้จะมีแผลด่างขาวตามลำตัว มักเกิดกับปลาหลังจากการย้ายบ่อ การลำเลียงหรือการขนส่งเพื่อการนำไปเลี้ยง หรือในช่วงที่อุณหภูมิของอากาศมีการเปลี่ยนแปลงในรอบวันมาก ปลาที่ติดโรคนี้จะเริ่มตาย
เลี้ยงปลาในกระชังช่วงฤดูหนาว เกษตรกรต้องระวังคือ ปลากินอาหารน้อย และมีปัญหาน็อกตาย เพราะการเลี้ยงปลาจะอยู่ที่อุณหภูมิ 26-30 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงฤดูหนาวอากาศจะลดต่ำลงมาก กระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพของสัตว์น้ำ เพราะปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น จึงมีอุณหภูมิร่างกายเท่ากับสภาพแวดล้อม ทำให้ระบบเมตาบอลิซึ่มในร่างกายของปลามีความผิดปกติ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันที่จะลดต่ำลงด้วย
ดังนั้นเกษตรกรต้องปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับปลา และต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพปลาที่เลี้ยงในกระชังและบ่อดิน เนื่องจากช่วงนี้อากาศหนาวเย็น ทำให้เกิดโรคได้ง่าย โดยเฉพาะปลาที่เป็นแผลตามลำตัวที่เกิดจากแบคทีเรีย โดยจะพบทุกปีในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรในหลายพื้นที่ เกษตรกรควรป้องกันปัญหา ดีกว่ามาแก้ไขภายหลัง ซึ่งอาจสายเกินแก้ คืออย่าปล่อยปลาหนาแน่นจนเกินไป เลือกปล่อยลูกปลาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และควรสังเกตการกินอาหารที่อาจลดลง จึงต้องลดปริมาณอาหารให้น้อยลง แต่บ่อยครั้ง เท่าที่ปลากินหมด และหลีกเลี่ยงการให้อาหารเช้าตรู่และก่อนค่ำ นอกจากนี้เกษตรกรควรผสมวิตามินซีและสารกระตุ้นภูมิต้านทานในอาหารให้ปลากินครั้งละ 3 วัน ส่วนการเลี้ยงในบ่ออาจนำปูนขาวหรือเกลือ มาละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อ ปริมาณ 50-60 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ เพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรีย ทั้งไม่ควรสูบน้ำเข้า-ออกภายในบ่อ และไม่ควรย้ายหรือลำเลียงปลาที่เลี้ยงไปยังที่อื่นโดยเด็ดขาด
เบญจมาศ พานทอง 77ข่าวเด็ดสิงห์บุรี /รายงาน
.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: